ไม่พบผลการค้นหา
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล แนะรัฐบาลโยกงบประมาณจากหน่วยงานที่ไม่มีภารกิจมาแก้ปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด-19

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ตอนนี้เริ่มมีกระแสตั้งคำถามว่างบกลางหายไปไหนกันในโซเชียลมีเดียตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างที่รอคำตอบที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล ตนขอลองช่วยรัฐบาลตอบไปก่อน ทั้งนี้ งบกลางปีงบประมาณ 2563 ร่วม 520,000 ล้านบาท เป็นการตั้งงบรองรับเหตุการณ์ที่ยังไม่ทราบว่าในปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายตามจริงเท่าไหร่ เช่น ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็ไม่ทราบว่าปีนี้ข้าราชการจะป่วยกี่คน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญก็อยู่ในงบกลาง เพราะเราไม่รู้ว่าจะข้าราชการลาออกกี่คน

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ส่วนที่นำมาใช้จ่ายได้ในกรณีวิกฤตโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ก็น่าจะเป็น ข้อ 11 เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นวงเงิน 96,000 ล้านบาท เท่าที่จะหาข้อมูลได้จากมติ ครม. มีการอนุมัติการใช้งบส่วนนี้ไปแล้วราว 94,000 ล้านบาทระหว่าง 1 ต.ค. 2562 – 24 มี.ค. 2563 ส่วนใหญ่ก็ใช้ไปกับการแก้ปัญหาโควิด-19 และภัยแล้ง รวมถึงการจัดเตรียมงบเพื่อชดเชยรายได้ 45,000 ล้านบาท สำหรับแรงงานนอกระบบ 3 ล้านรายด้วย เท่ากับเงินสำรองส่วนนี้ใกล้หมดเต็มทีแล้ว แต่ที่เราไม่ทราบเลยก็คือการเบิกจ่ายงบประมาณว่างบที่ได้รับอนุมัติว่าเป็นไปอย่างไรบ้าง มีการยกเลิก เปลี่ยนแปลงรายการอะไรไปบ้างหรือไม่ หลังจากมีมติครม. ตรงนี้คงต้องรอคอยคำตอบจาก กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางต่อไป นอกจากเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำเป็น รัฐบาลยังมีเงินสำรองอีกก๊อก ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่ให้รัฐบาลมีงบฉุกเฉินก๊อก 2 อีก 50,000 ล้านบาท น่าจะยังไม่ได้นำมาใช้ ณ ขณะนี้

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังคงต้องใช้งบประมาณอีกมากเพื่อเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และยา สำหรับการป้องกัน ควบคุมโรค และรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แม้แต่มาตรการชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ที่ตอนแรกประมาณการไว้ว่าจะมี 3 ล้านคนที่ได้รับ ตัวเลขจริงก็อาจจะสูงกว่านี้ และกระทรวงการคลังยืนยันแล้วว่าแจกทุกคน ไม่มีอั้น แสดงว่าเงินสำรองจะไม่เพียงพอแล้วแน่นอน

สัญญาณจากรัฐบาลตอนนี้ แน่นอนแล้วว่าจะมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ตามข่าวคือ 200,000 ล้านบาท ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาเตรียมการ สิ่งที่ทำได้เลยในเวลานี้คือการโยกงบประมาณจากหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตรง มาไว้ที่งบกลาง หรือกระทรวงสาธารณสุขตามความจำเป็นและความสะดวกในการใช้ ซึ่งทำได้ผ่านการออก พ.ร.บ.โอนย้ายงบประมาณ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ปีที่แล้ว (62) ก็ทำ

จากงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มีงบประมาณส่วนที่ "ตัดไม่ได้เด็ดขาด" คือเงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการตามกฎหมาย งบชำระหนี้ และภาระผูกพัน สุดท้ายจะมีเงินส่วนที่ยังพอจะโยกย้ายได้อยู่ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 650,000 ล้านบาท ซึ่งต้องคงสัดส่วนที่ร้อยละ 20 ของงบประมาณตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ส่วนที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำ 550,000 ล้านบาท 

ตอนนี้งบประมาณปี 63 ดำเนินมาได้ครึ่งทางแล้ว งบบางส่วนถูกเบิกจ่ายไปแล้ว รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายไปแล้วราว ร้อยละ 40 ของงบประมาณ ประมาณการคร่าวๆ งบที่ยังไม่ได้ใช้คือ 330,000 ล้านบาทจากทุกกระทรวง แน่นอนว่าบางกระทรวงอาจโยกงบได้มากน้อยแตกต่างกัน และเรายังภารกิจอื่นๆ ที่ต้องจัดการนอกเหนือจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ปัญหา PM2.5 ในภาคเหนือ และไฟป่า จึงคาดว่าส่วนที่จะโยกได้จริงๆ คือ 80,000-100,000 ล้านบาท ดังนั้นก่อนจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน ควรจัดสรรงบปี 63 ใหม่เสียก่อน จัดลำดับความสำคัญใหม่ ให้สาธารณสุข และการเยียวยาผู้คนได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว การกู้เงินเพิ่มอีก 200,000 ล้านบาทก็อาจจะไม่เพียงพอ