ตัวเลข ‘นักโทษ’ ภายในเรือนจำจำนวนมหาศาลและไม่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ กลายเป็นต้นเหตุให้ ‘วันชัย รุจนวงศ์’ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาตั้งคำถามถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดและกระบวนการยุติธรรมในไทย
“ผมคิดว่าเราต้องกลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดและการจัดการปัญหายาเสพติดได้แล้ว” เขาบอกเสียงเข้มท่าทีขึงขังกับ ‘วอยซ์’ หลังนโยบายแบบเดิมๆ ของราชการไทยกว่า 30 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ
สถิติจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ก.พ. 2564 พบว่า เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังทั้งหมด 319,082 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติดสูงถึง 81.57% หรือ 260,270 คน โดยเป็นยาบ้า มากถึง 4 ใน 5 ของยาเสพติดทั้งหมด
ขณะที่นักโทษคดีอื่นๆ ทั้งจี้ปล้น ฆ่า ทำร้าย ฉ้อโกง ลักทรัพย์ ทุจริต ทั้งหมดรวมกัน มีแค่ 18.43% หรือ 58,812 คน
นักโทษเด็ดขาด เป็นคดียาเสพติดสูงถึง 82.86% หรือ 215,372 คน
ขณะที่นักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดอย่างอื่นรวมกัน มีแค่ 17.14% หรือ 44,543 คน
ในจำนวนนักโทษเด็ดขาดคดียาเสพติด มียาเสพติดสองประเภทเท่านั้นที่เป็นปัญหาหนัก คือ ยาบ้า 75.02% และยาไอซ์ 12.9%
ตัวเลขนักโทษยาเสพติดจำนวนมาก ในความเห็นของวันชัยไม่ได้สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่อันเข้มแข็งของรัฐ ตรงกันข้ามนั่นบ่งชี้ว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผล
“เดินมาผิดทาง ยิ่งแก้ ปัญหายิ่งหนักหนาสาหัส”
ศักยภาพพื้นที่ของคุกไทย สามารถรองรับนักโทษได้ไม่เกิน 1.2 แสนคน แต่ปัจจุบันกลับมีนักโทษมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวในการจัดการและสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก
“คุกจะแตก” วันชัยบอก แม้จะหาวิธีลดจำนวนด้วยการอภัยโทษตามโอกาสพิเศษต่างๆ แต่สุดท้ายก็มีคนถูกจับส่งเข้าไปอีกจากการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีคิดเดิม
เมื่อปี 2018 จากการเก็บข้อมูลของ prisonstudies.org พบข้อมูลว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนกับอินเดีย ที่มีประชากรสูงกว่าไทยหลายเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียน
เมื่อมองไปที่กระบวนการยุติธรรม วันชัยบอกว่าคดียาเสพติด ผู้ต้องหามักติดคุกเกือบทุกราย และได้รับโทษเป็นระยะเวลานาน รวมถึงได้รับการลดโทษน้อยกว่าคดีอื่นๆ
“คดีฆ่าคนตาย โทษสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน โทษประมาณ 12-18 ปี พอเข้าคุก เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้อภัยโทษหรือได้พักโทษ เหลือติดจริงๆ ประมาณ 8 ปี แต่ยาเสพติด มีสัก 2-3 หมื่นเม็ดก็จะติดตลอดชีวิต ลดโทษไปลดโทษมาแล้วสุดท้ายอาจติดราวๆ 20 ปี”
อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า โลกนี้มีแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดสองแนวทางใหญ่
1.แบบสหรัฐอเมริกา เน้นปราบปรามเด็ดขาด จับเอาเข้าคุก ใครที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ไม่สนใจว่าจะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์หรือไม่
ประเทศไทยเดินตามแบบสหรัฐฯ มาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ที่สหรัฐฯ กดดันและสนับสนุนรัฐบาลให้ไทยให้ตั้งขึ้น มีอิทธิพลครอบงำทางความคิดของ ปปส. และ บช.ปส. ผ่านการฝึกอบรม ดูงาน และการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ
2.แบบยุโรป มองปัญหาแยกเป็นสองส่วน คือ ผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ค้ารายใหญ่ เป็นอาชญากรที่ต้องทุ่มเทกำลังปราบปรามเอาจริงเอาจัง ใช้เวลาสืบสวนเพื่อไปให้ถึงต้นตอ
ขณะที่วิธีการปราบปรามของไทยไม่คุ้นชินกับการสืบสวนระยะยาว เพราะกฎหมายและระบบไม่เอื้ออำนวย ทำให้เจ้าหน้าที่นิยมจับรายย่อย
“จับง่าย ไม่มีปัญญาสู้คดี ได้ความดีความชอบ” เขาบอก ต่างจากรายใหญ่ที่จับยากใช้เวลาหาหลักฐานยาวนานและมีอุปสรรคในการเอาผิด
“คุกมีแต่รายย่อย ปลาซิวปลาสร้อย พวกติดยา พวกเดินยา พวกรับจ้างขน พวกกองทัพมดเต็มไปหมด แต่รายใหญ่ที่ติดจริงมีน้อยถึงน้อยมากที่สุด”
ในยุโรปมอง ‘กลุ่มติดยา’ และ ‘ผู้ค้ารายย่อย’ เป็นปัญหาสังคม ที่ต้องแก้ด้วยการฟื้นฟูและไม่นำมาติดตะรางซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ โดยฟื้นฟูผ่านคลินิกนิรนาม แจกจ่ายยาเสพติดให้ในปริมาณที่จำเป็นตามคำวินิจฉัยของแพทย์
“แจกจ่ายยาเพื่อให้คนพวกนี้อยู่ได้โดยไม่ต้องไปขายยาเพื่อให้นำเงินมาเสพต่อ เพราะนั่นเท่ากับสร้างผู้เสพหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนระบบขายตรง เติบโตแบบก้าวกระโดด ดีมานด์เยอะ ซับพรายก็มากเรื่อยๆ”
จากประสบการณ์ของวันชัย การนำนักโทษเข้าคุกเป็นเวลานาน เสี่ยงที่จะทำให้คนเหล่านั้นหมดอนาคต
“ไม่มีที่ไหนเพาะพันธุ์อาชญากรได้ดีไปกว่าในเรือนจำหรอกครับ เป็นไอ้ขี้ยา พอจับเข้าไปปุ๊บ ออกมากลายเป็นไอ้ขี้คุก โอกาสในสังคมเหลือศูนย์”
“เมื่อพวกยาเสพติดไปอยู่ด้วยกัน ก็เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล สนิทสนม ออกมาก็กลายเป็นรายใหญ่ เพราะมีเส้นสายต่างๆ ซ้ำเติมปัญหาให้สาหัสเข้าไปอีก”
อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลว่า แนวทางปราบปรามแบบสหรัฐฯ ส่งให้ผลสหรัฐฯ มีนักโทษในคุกมากที่สุดในโลกประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่แนวทางแบบยุโรป ทำให้หลายประเทศต้อง ‘ปิดคุก’ เนื่องจากไม่มีนักโทษ ประหยัดงบประมาณได้มหาศาล
สำนักข่าว tcijtha เคยรายงานว่า ข้อมูลจากรายงานการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ของกรมราชทัณฑ์ ตามเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการจัดทำต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ 2562 ระบุถึงต้นทุนรวมของหน่วยงาน ของประจำปีงบฯ 2561 มีทั้งสิ้น 14,518,640,340.97 บาท
แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 6,316,187,840.44 ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม 136,224,431.24
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 69,323,403.70 บาท ค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และสาธารณูปโภค 6,910,016,884.61 บาท
ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย 1,008,639,119.85 บาท ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน 32,320,673.93 บาท
ค่าจำหน่ายจากการขายสินทรัพย์ 3,413,873.21 บาท และ ค่าใช้จ่ายอื่น 42,514,113.99 บาท
โดยสรุปต้นทุนควบคุมผู้ต้องขัง 37,463.50 บาท/คน/ปี ส่วนต้นทุนจัดการศึกษา-ฝึกอาชีพ-พัฒนาจิตใจ 1,166.61 บาท/คน/ปี เท่านั้น
เลิกยาไม่ใช่เรื่องง่าย “สำหรับพวกจิตอ่อน” วันชัยบอกต้องหาสารทดแทน ซึ่งพืชสมุนไพรอย่างกัญชา กัญชง หรือกระท่อม เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
“เหมือนคนติดบุหรี่มันต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน” เขาเน้นย้ำว่าคนอยู่นอกคุกยังทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ช่วยตัดช่องทางทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ประหยัดงบประมาณประเทศชาติ และยังช่วยทำให้คุกเป็นที่สถานที่บำบัดหรือขัดเกลาได้อย่างแท้จริง
“ทุกวันนี้มันแออัดมากจนไม่ต้องพูดถึงเรื่องการบำบัด แค่ดูไม่ให้หนี ไม่ให้แหกคุก ไม่ให้จลาจลและมีข้าวกินก็เป็นเรื่องยากแล้ว”
อดีตบิ๊กราชทัณฑ์ทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามต่อวิธีการที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน “เรามาผิดทางหรือเปล่า อย่าไปคิดว่าเล็กน้อยไม่ได้ ต้องจับทั้งหมดแล้วออกมาเป็นโจร”
เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด
ภาพ : ณปกรณ์ ชื่นตา