ไม่พบผลการค้นหา
จากความต้องการช่วยเหลือผู้รักษามะเร็งด้วย ‘คีโม’ สู่การทอวิกผมแท้ฝีมือผู้ต้องขัง โครงการที่ไม่ว่าใครก็ต้องปรบมือให้ อย่างไรก็ตามหนีไม่พ้นมารผจญ เมื่อมีมิจฉาชีพจ้องหากินบนความด้อยโอกาส

ปัญหาเซลล์รากผมตาย เป็นผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด หรือ ‘คีโม’ (Chemotherapy)

เมื่อไม่มีเส้นผมระหว่างที่ต้องต่อสู้กับเนื้อร้าย ‘วิกผม’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยมะเร็งหลายคน เพื่อประคับประคองบุคลิกภาพและพลังใจ

อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกคนจะเอื้อมถึงมันได้ง่ายๆ เมื่อ ‘วิกผมแท้’ มีราคาสูงไล่ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลายแสนบาท

จากโจทย์ข้างต้นทำให้ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี ประธานกรรมการมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ และผู้ก่อตั้งบริษัทจิตอาสา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ก้าวเข้ามาจัดการปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการรับบริจาคเส้นผม ไปจนกระทั่งถักทอส่งต่อยังโรงพยาบาล โดยมี ‘ผู้ต้องขังในแดนหญิง’ เป็นนางเอกของงานนี้

02.jpg

(ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี - ประธานกรรมการมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ และผู้ก่อตั้งบริษัทจิตอาสา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด)


โกนผมเป็น 'พุทธสาวิกา' คนดันมองเป็นมะเร็ง

ดร.อรณัฏฐ์ เห็นความสำคัญของเส้นผมก็เมื่อที่ตัวเองโกนศีรษะบวชเป็นพุทธสาวิกา โดยหลังออกมาใช้ชีวิตตามปกติกลับพบเจอผู้คนแสดงกริยาสงสาร เพราะเข้าใจผิดว่าเธอเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ผมร่วงจากการทำคีโม

“เส้นผมเป็นสิ่งสำคัญเชิงอัตลักษณ์และพลังใจ สายตาที่มองเราด้วยความสงสาร ทำให้คิดได้ว่าคนไข้มะเร็งต้องการโอกาสมากกว่าเรา”

นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ ดร.อรณัฏฐ์ เริ่มตั้งเพจ ‘Dr.Jolie’ เมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้วเพื่อรับบริจาคเส้นผม แล้วใช้ทุนส่วนตัวจ้างบริษัททอวิกผมให้ในราคา 1,500 -2,000 บาทต่อหัว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งติดต่อขอรับเส้นผมด้วยตัวเอง

โครงการได้รับการตอบรับอย่างสูง มีผู้บริ���าคเส้นผมเข้ามามหาศาล เต็มตู้คอนเทนเนอร์ในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน จนกระทบกับค่าใช้จ่ายในการนำไปเส้นผมไปทอเป็นวิก ดร.อรณัฏฐ์จึงประกาศปิดรับบริจาคชั่วคราว และตัดสินใจขายทรัพย์สินส่วนตัวหลายอย่างรวบรวมเงินทุนทอวิกผม

“รับบริจาคมาเสียเยอะก็ต้องรับผิดชอบ มีบ้านขายบ้าน มีรถขายรถ” เธอกล่าวอย่างติดตลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหมือนฟ้าเป็นใจ มีแฟนเพจติดต่อขอบริจาคเงินให้เป็นทุนค่าจ้างทอวิก เธอจึงตัดสินใจก่อตั้ง ‘มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่’ โดยมีมิตรสหายและแฟนเพจสนับสนุน

03.jpg

(หน้าแดนหญิงเรือนจำกลางอุบลราชธานี)


‘มิจฉาชีพนอกกำแพง’ สู่ ‘นางฟ้าหลังกำแพง’

ธุรกิจวิกผมแท้ที่ทอด้วยมือ มีความยากในการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนรวบรวมเส้นผมแท้ ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ และใช้เวลานานในการทอ ส่งผลให้วิกผมเป็นของแพงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดร.อรณัฏฐ์ เล่าว่า ระหว่างดำเนินงานมีผู้แอบอ้างว่ามาจาก DL Thai Hair Wig Factory บริษัทผลิตวิกผมที่มีอยู่จริง โดยขอช่วยแบ่งเบาภาระด้วยการขอรับเส้นผมต่อจากมูลนิธิฯ เพื่อนำไปทอและบริจาคให้ตามโรงพยาบาลเอง เมื่อติดตามเรื่อง จึงพบว่าบริษัทที่ถูกกล้าวอ้างไม่ทราบเรื่อง มิจฉาชีพกลุ่มนั้นจงใจนำเส้นผมบริจาคไปขายหรือนำไปจ้างโรงงานอื่นทอแล้วนำไปขายต่อ นั่นเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท DL Thai Hair Wig Factory ในการอาสาเป็นผู้สอนการทอวิกผมให้กับบุคลากรของมูลนิธิฯ เพื่อต่อยอดการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

“โรงงานเขาบอกว่าในเมื่อเราโดนหลอกด้วยกัน ก็ส่งคนมาเรียนสิ ปกติค่าเรียนทอวิกผมที่บริษัทรับสอนอยู่ที่คอร์สละ 70,000 บาทต่อคน เราเลยคิดว่าควรจะติดต่อโรงพยาบาลมะเร็งสักที่ให้เขาส่งบุคลากรมาเรียนจะมีความก้าวหน้ามากกว่า ส่วนเราจะจ่ายค่ากินค่าที่พักให้”

โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี เป็นแห่งแรกที่ส่งบุคลากรมาเรียน 2 คน ก่อนที่จะมีการถ่ายทอดวิชาทอวิกผมให้กับผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น ทั้งบุคลากรในโรงพยาบาลรวมถึงญาติผู้ป่วยที่สนใจ

ดร.อรณัฏฐ์ ยังคิดว่าจะทำอย่างไรให้โครงการเกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น จึงติดต่อไปที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี ขอนำบุคลากรจากโรงพยาบาลเข้าไปฝึกอาชีพทอวิกผมให้กับผู้ต้องขังหญิง พร้อมกับเปลี่ยนโมเดลการรับบริจาคเฉพาะเส้นผม เป็นการ บริจาคเส้นผมพร้อมเงินสมทบทุนค่าทอวิก 350 บาท เพื่อใช้เป็นค่าจ้างทอวิกให้กับผู้ต้องขัง ภายใต้ชื่อโครงการ ‘นางฟ้าหลังกำแพง’ ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังหญิง

04.jpg

เรือนจำกลางอุบลราชธานียินดีให้ความร่วมมือนำไปสู่การก่อตั้ง ‘บริษัทจิตอาสา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด’ ซึ่งทำงานเป็นสื่อกลางในการรับเส้นผมและเงินสมทบทุนค่าทอ เพื่อส่งทอในเรือนจำ จากนั้นจึงนำวิกผมที่ทอเสร็จแล้วไปมอบให้กับโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานีเพื่อให้ผู้ป่วยยากไร้ใช้ประโยชน์

ขั้นตอนการผลิตวิกผมในเรือนจำนับว่าละเอียดอ่อน กล่าวคือ ต้องใช้เส้นผมจากผู้บริจาค 4 คนรวมกันจึงจะพอสำหรับการทอวิกผม 1 หัว ผมจากผู้บริจาคทั้ง 4 คนต้องมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งในด้าน สี ขนาดเส้นผม ความหนา ความยาว เมื่อรวบรวมได้ครบจะต้องนำมาสางลูกผมออก ต่อด้วยการทำทรีทเมนต์ แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อรวม 9 น้ำ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทอลงตาข่าย

05.jpg

(ขั้นตอนการสางลูกผม)

06.jpg

(จับคู่ผมจากผู้บริจาคที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน 4 คนไปล้างทำความสะอาด)

07.jpg

(ตากแดดก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทอ)

“ต้นทุนค่าทอวันนี้อยู่ที่ 2,000 บาทต่อหัว เราเก็บทุนสมทบจากผู้บริจาคผมคนละ 350 บาทเพื่อจ่ายเป็นค่าฝีมือให้นางฟ้าหลังกำแพง เรารับซื้อจากนางฟ้าทุกหัว ทุกกรณี”


เรือนจำเปิดกว้าง รับโครงการพัฒนาผู้ต้องขัง

น.ส.จำปา ไขแสง ผอ.ส่วนการพัฒนาผู้ต้องขัง และนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษเรือนจำกลางอุบลราชธานี ยอมรับว่าเรือนจำหลายแห่งในปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาสุขภาวะและอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เมื่อได้รับการติดต่อจากโครงการนางฟ้าหลังกำแพง จึงให้ความร่วมมือทันทีเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งและช่วยสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ

ผู้ต้องขังเกินครึ่งต้องคดียาเสพติด เหตุผลมักมาจากความยากจนขาดโอกาสพัฒนาชีวิตในทิศทางที่เหมาะสม จึงเลือก ‘เสี่ยง’ เข้าไปพัวพัน หวังได้เงินอย่างรวดเร็ว แต่หากมีอาชีพที่พวกเขาสามารถทำเงินได้ดีก็เท่ากับช่วยลดการเข้าไปพัวพันกับวงจรเดิมหลังพ้นโทษได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้พวกเขามีรายได้ระหว่างอยู่เรือนจำด้วย

“ผู้ต้องขังได้รับค่าจ้างในฐานะแรงงานเป็นรายเดือนตามจริงที่แต่ละคนทอได้ เป็นเงินใช้จ่ายในเรือนจำ บางคนติดนานๆ ถ้าเก็บเงินไว้ก็มีทุนตั้งตัวตอนพ้นโทษได้เลย”

08.jpg

(น.ส.จำปา ไขแสง - ผอ.ส่วนการพัฒนาผู้ต้องขัง)

ผอ.จำปา กล่าวอีกว่า นางฟ้าหลังกำแพงถือเป็นโครงการที่ทางเรือนจำอนุญาตให้ผู้ต้องขังสมัครเข้าฝึกอาชีพได้ทั้งนักโทษเด็ดขาดและนักโทษระหว่าง พร้อมย้ำว่าทางเรือนจำมีความเปิดกว้าง ยินดีต้อนรับทุกหน่วยงานที่มีโครงการฝึกอาชีพผู้ต้องขังมาเสนอ โดยคณะกรรมการจะพิจารณาว่าเหมาะกับสภาพเรือนจำหรือไม่ และต้องเป็นอาชีพที่ทำได้จริงหลังพ้นโทษ

09.jpg

(นางฟ้าแกนนำกลุ่มทอวิกผม)

เมื่อได้พูดคุยกับนางฟ้าหลังกำแพงระดับ ‘แกนนำ’ ที่มีความชำนาญที่สุดของกลุ่มทอวิกผม ในฐานะผู้สมัครเข้ามาฝึกอาชีพเป็นคนแรก เธอเล่าว่าวันแรกๆ คิดว่ายากมาก ไม่คิดว่าจะทำสำเร็จจนกระทั่งพบว่าเป็นเพราะความใจร้อน แต่การทอวิกผมช่วยให้เธอมีสมาธิ เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้เธอชวนเพื่อนผู้ต้องขังมาร่วมเป็นนางฟ้าหลังกำแพงด้วยถึง 20 คน

10.jpg

“ปกติเป็นคนใจร้อนมาก ทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่การทำวิกผมมันมีสิ่งจูงใจคือผู้ป่วยที่เขารออยู่ เราต้องทำให้ได้นะ เราต้องทำให้สวยนะ ทำให้เรามีสมาธิ”

เธอยืนยันว่าการทอวิกผมเป็นงานที่ละเอียดมาก แต่แม้ต้องใช้ความอดทนเป็นเวลานานก็ไม่เคยเบื่อ จากหัวแรกที่เริ่มฝึกใช้เวลาทอนานเกิน 2 เดือน มาวันนี้ใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ต่อหัว นับว่าคล่องแคล่วพอๆ กับมืออาชีพเลยทีเดียว

เมื่อถามว่า เธอคิดอะไรขณะลงเข็มไปแต่ละครั้ง? เธอตอบอย่างน่าสนใจว่า

“แรกๆ คิดถึงแต่อดีต พอทำไปสักพักเราคิดว่าถ้าวันนั้นเราช้าลง มีสติ ช้าเหมือนตอนทำวิก วันนี้เราคงไม่ต้องมานั่งอยู่ในนี้”

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าจะทำวิกผมเป็นอาชีพให้ได้ หลังได้รับการทาบทามให้เข้าทำงานเป็นครูฝึกอาชีพกับโครงการนางฟ้าหลังกำแพงในวันที่เธอพ้นโทษ โดยปัจจุบันเธอเป็นพี่เลี้ยงสอนทอวิกให้กับเพื่อนๆ ในเรือนจำ เธอบอกว่าทุกคนที่มาฝึกแล้วทนกับระยะแรกได้ก็จะชอบและมีความสุขในที่สุด ส่วนเธอเองดีใจที่เพื่อนๆ ไม่ต้องมาคอยนั่งจับกลุ่มคุยกันเรื่องยา เรื่องอดีต และเรื่องความผิดของตัวเอง

11.jpg

วิกผม ของไม่จำเป็นที่ 'จำเป็น'

จากรายงานของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สรุปได้ว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาโรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน หรือราว 70,000 คนต่อปี มีผู้ป่วยรายใหม่ราวปีละ 1 แสนคน จากสถิติผู้เข้ารับการรักษาด้วย ‘สิทธิบัตรทอง’ พบว่ามะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นประเภทมะเร็งที่มีผู้ป่วยเป็นอันดับหนึ่งเมื่อรวมทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งประเภทนี้มีจำนวนสูงสุดอยู่ที่ภาคอีสาน สาเหตุหลักมาจากปัญหาคุณภาพชีวิตด้านสุขอนามัย

นพ.พงศธร ศุภอรรถกร ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยใน เป็นบุคคลที่มีรายได้น้อย การกินของสุกๆ ดิบๆ เป็นเวลานานคือสาเหตุหลักในการก่อมะเร็งตับและท่อน้ำดี แม้ว่าผู้ป่วยในปัจจุบันจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้ผ่านสวัสดิการหลายระบบ แต่วิกผมยังเป็นของจำเป็นที่หลายคนอาจมองว่าอยู่นอกเหนือจากความช่วยเหลือเชิงสวัสดิการ

12.jpg

(นพ.พงศธร ศุภอรรถกร ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี)

“ความรู้สึกมีปมด้อย อับอาย ไม่กล้าเข้าสังคม ส่งผลต่อการรักษานะ เมื่อผมร่วงบางคนไม่กล้าเดินทางมารักษา การแก้ปัญหาตรงนี้ทำให้ขณะการรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดก็ยังเข้าสังคมได้ตามปกติ ช่วยให้รักษาจนครบโปรแกรมได้”

มะเร็งแต่ละประเภทมีวิธีรักษาแตกต่างกัน แต่ ‘คีโม’ แทบจะรวมอยู่ในขั้นตอนการรักษามะเร็งทุกประเภท เซลล์รากผมผู้ป่วยจะถูกทำลายไปพร้อมกับเซลล์มะเร็งระหว่างการรักษา แต่เมื่อมีการหยุดคีโมเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ก็จะมีเส้นผมขึ้นใหม่ วิกผมที่ถูกส่งถึงมือผู้ป่วยจึงเป็นการเวียนใช้ ผู้ป่วยต้องนำวิกผมกลับมาคืนเพื่อทำความสะอาดแล้วส่งต่อให้ผู้ป่วยรายถัดไป นพ.พงศธร เสริมว่า เมื่อประเมินจากการขอรับวิกผมของผู้ป่วย จะเห็นได้ชัดว่าความต้องการวิกผมในผู้ป่วยหญิงมีสูงมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยอายุน้อย และแม้แต่วัยชรา

13.jpg

(หญิงชราคนหนึ่งขณะลองสวมวิกผมที่ได้ขอรับบริจาคไว้)

“ผู้ป่วยมะเร็งมีเยอะในทุกภาค ทุกภาคมีผู้ป่วยยากไร้ ความต้องการวิกผมมีอยู่ทั่วประเทศไทย แต่มีสักกี่คนที่สามารถซื้อได้” นพ.พงศธร กล่าว

โครงการนางฟ้าหลังกำแพงยังทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามร่วมกันกับเรือนจำอื่นๆ ด้วย เบื้องต้นได้แก่ เรือนจำสมุทรปราการ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนประสานงาน

ส่วนโรงพยาบาลที่ต้องการวิกผมให้กับผู้ป่วยนั้น ดร.อรณัฏฐ์ บอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ ยังมีการเปิดรับเส้นผมหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มีเส้นผมที่สามารถออกแบบเป็นวิกผมได้ทันสมัย เป็นตัวเลือกสำหรับความต้องการวิกผมในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่กว้างขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากร้าน ‘Phoenix at ONE’ หนึ่งในร้านตัดผมชื่อดังแห่งสยามสแควร์ อาสาทำงานเป็นผู้ออกแบบทรงผม และหากใครต้องการบริจาคเส้นผมก็สามารถทำได้โดยการไปตัดผมที่ร้านดังกล่าวได้เลย

อย่างไรก็ตาม ดร.อรณัฏฐ์ ยังยืนยันว่าแม้จะผ่านมาหลายปีนับจากวันแรกที่เริ่มรับบริจาคเส้นผม แต่ยังคงต้องรับมือกับกลุ่มมิจฉาชีพที่แอบอ้างหาประโยชน์จากโครงการอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้บางกลุ่มจะถูกฟ้องดำเนินคดีไปเรียบร้อยแล้วก็จะมีกลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้นมา

เธอเล่าว่ามิจฉาชีพจะใช้วิธีติดตามในเฟซบุ๊ก “จากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่” เพื่อมองหาผู้สนใจจะบริจาคเส้นผม แล้วใช้เฟซบุ๊กปลอมเข้าไปติดต่อโดยตรง โดยอ้างเป็นแอดมินของมูลนิธิ และขอเส้นผมไว้เอง จากนั้นจะเอาเส้นผมที่สวยหรือยาวเกิน 12 นิ้วไปขาย หรือนำเงินส่วนสบทบค่าทอไปเป็นทุนทอผมที่ไม่สามารถขายแยกได้ กลายเป็นวิกผมสำเร็จเพื่อการขายอีกที บางกลุ่มตั้งกลุ่มรับบริจาคแล้วใช้ข้อมูลของทางโครงการ ไม่ว่าจะอินโฟกราฟิกหรือรูปภาพในการแอบอ้างหาประโยชน์ เรียกว่าสวมรอยทุกอย่าง สิ่งที่เปลี่ยนมีเพียงที่อยู่ปลายทางรับเส้นผม และบัญชีรับโอนเงินบริจาคสมทบทุนค่าทอวิก

“พวกเขาติดต่อลูกเพจของเราเร็วมาก แถมยังดูน่าเชื่อถือเพราะเอาข้อมูลของเราไปใช้หมด เคยมีถึงขนาดทำทีเข้ามาบริจาคเส้นผมที่ออฟฟิศเรา แล้วถ่ายรูปไปทุกซอกทุกมุม เอาไปใช้อ้างว่าเป็นบรรยากาศออฟฟิศของเขาเอง” ดร.อรณัฏฐ์กล่าว

ดังนั้นหากใครมีความสนใจจะบริจาคเส้นผม นอกจากจะต้องมั่นใจว่าผมของคุณเว้นการทำเคมีทุกประเภทมาแล้วนานกว่า 3 เดือน และมีความยาวถึง 12 นิ้ว ควรดูให้แน่ใจว่าบัญชีรับบริจาคต้องเป็นบัญชีนิติบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้ อย่าลืมว่าควรบริจาคเส้นผมพร้อมเงินสมทบทุนค่าทอวิก เพื่อให้มั่นใจว่าการช่วยเหลือด้านโอกาสของคุณส่งไปถึงทั้งผู้ป่วยและผู้ต้องขังโดยสมบูรณ์ หรือสามารถติดต่อโดยตรงที่เฟซบุ๊ก ‘จากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่’ โทรศัพท์ 066 0856 715 ตั้งแต่ 9.00 – 20.00 น.

อย่าให้ความตั้งใจของคุณและโอกาสของผู้ป่วยมะเร็งยากไร้กับนางฟ้าหลังกำแพงถูกฉกฉวยไปโดยมิจฉาชีพที่ลอยนวลอยู่นอกกำแพงเรือนจำ

69502929_348115086074139_1428492172595822592_n.jpg