ไม่พบผลการค้นหา
อินโดนีเซียคาดจะเกิดภาวะ 'เบบี้บูม' หรือ อัตราการเกิดของทารกเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงการคุมกำเนิดช่วงมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโควิด-19

คณะกรรมการวางแผนครอบครัวและประชากรแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ BKKBN ซึ่งรับผิดชอบโครงการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซียพบว่า จากข้อมูลรายงานใน 34 จังหวัด เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มากกว่าร้อยละ 10 ของผู้รับบริการเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงการคุมกำเนิด โดย BKKBN มีผู้รับบริการการวางแผนครอบครัวอยู่ทั้งหมดประมาณ 28 ล้านคนทั่วประเทศ 

รายงานระบุว่า การคุมกำเนิดที่ลดลงในระยะเวลาเพียง 1 เดือน อาจทำให้มีหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 หรือประมาณ 420,000 รายภายในช่วงเวลา 1-3 เดือน แต่หากการคุมกำเนิดลดลงอีกภายใน 3 เดือน ก็จะทำให้การตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 30 หรือคิดเป็นกว่า 800,000 ราย ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  

อินโดนีเซียมีประชากรเกือบ 270 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 4.8 ล้านคน โดย BKKBN พบว่าการใช้การกำเนิดลดลงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการฝังยาคุมกำเนิด การฉีดยาและการทำหมันในผู้ชาย ซึ่ง 'นายฮัสโต วารโดโย' หัวหน้าหน่วยงาน BKKBN ยกตัวอย่างว่า การฝังยาคุมกำเนิดลดลงถึงร้อยละ 40 ขณะที่การทำหมันในผู้ชายลดลงถึงร้อยละ 90 โดยการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การเข้าถึงการคุมกำเนิดลดลงเพราะคลินิกหลายแห่งปิด ส่วนที่ยังเปิดอยู่ก็จำกัดจำนวนคนรับบริการ ขณะเดียวกันยังจำกัดการเข้าถึงยาคุมกำเนิดของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพวกเขาสามารถรับยาคุมกำเนิดฟรีจาก BKKBN ผ่านคลินิกและสถานผดุงครรภ์ต่างๆ  

หัวหน้าหน่วยงาน BKKBN ยังระบุว่า เมื่อไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดก็อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงและสร้างผลกระทบในระยะยาว เช่น พัฒนาการที่สะดุดลงของเด็กในครอบครัวยากจนซึ่งไม่สามารถรับโภชนาการที่เหมาะสม โดยยังบอกว่าการระบาดใหญ่ของไวรัสเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีสำหรับผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์ ในขณะที่หลายคนไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสมได้ 

ขณะที่ 'ออกุสตินา สิตุมอรัง' ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย คาดว่าจำนวนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในอินโดนีเซียเนื่องจากการเข้าถึงการคุมกำเนิดทำได้จำกัด โดยจำนวนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มว่าจะเกิดในหมู่ผู้หญิงจากครอบครัวยากจนที่ส่วนใหญ่พึ่งพาบริการยาคุมกำเนิดฟรีจาก BKKBN และหญิงสาวที่ตกงานในเมือง ต้องกลับไปยังบ้านเกิดและถูกบังคับให้แต่งงานด้วยค่านิยมทางสังคม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์แนะนำว่า เจ้าหน้าที่ภาคสนามของโครงการวางแผนครอบครัวต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำงาน ควรไปแจกจ่ายยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดให้ประชาชนถึงบ้านโดยสามารถทำงานร่วมกับศูนย์สุขภาพชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูล 

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่คาดว่า จะมีอัตราการเกิดของทารกเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากมาตรการที่สนับสนุนให้คนอยู่บ้านเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ในอิตาลีชี้ว่ากว่าร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ 1,482 คน บอกว่าไม่ต้องการตั้งครรภ์ระหว่างวิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัส และร้อยละ 37.3 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 268 คน ที่วางแผนจะมีลูกตั้งแต่ก่อนวิกฤตการระบาด ก็บอกว่าได้ทิ้งความตั้งใจนี้ไปแล้ว โดยเหตุผลหลักมาจากความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์จากโรคดังกล่าว 


อ้างอิง The Straits Times / Medical Express