ไม่พบผลการค้นหา
สุภาพร เพชรนนท์ เจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือประจำรัฐสภาผู้เหน็ดเหนื่อยไม่แพ้นักการเมืองในการถ่ายทอดคำพูดและท่าทีต่างๆ สื่อสารไปยัง 'ผู้พิการหูหนวก' หลายแสนคน

หญิงสาวยกไม้ยกมือ ขยับแขนขึ้นลงซ้ายทีขวาที ยืดอก ฉีกปาก ยักคิ้วหลิ่วตา ทำจมูกย่น เคลื่อนไหวร่างกายและใบหน้าอย่างไม่หยุดหย่อน

ทั้งหมดนี้คือภาพของเจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือประจำรัฐสภาผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำพูดและท่าทีของนักการเมือง สื่อสารไปยัง 'ผู้พิการหนูหนวก' ทั่วฟ้าเมืองไทย

“การเมืองนั้นยากตรงคำศัพท์และวาทกรรมใหม่ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาตลอด” สุภาพร เพชรนนท์ ล่ามภาษามือมากประสบการณ์บอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ระหว่างพักเบรกของช่วงเวลาอันดุเดือดในสภา


แปลให้เห็นภาพ

สุภาพรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกเป็นล่ามด้วยความท้าทายและเห็นว่าเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยมีผู้เลือกเดินในเวลานั้น

ภายหลังเรียนจบ เริ่มต้นเป็นล่ามภาษามือในแวดวงการศึกษา ฝึกฝนเพิ่มพูนประสบการณ์เป็นเวลา 6 ปีเต็มก่อนเข้าสู่วงการล่ามอิสระอย่างเต็มตัว

“พวกเราไม่ใช่ล่ามการเมืองโดยเฉพาะ แต่เมื่อต้องรับงานการเมือง ก็ต้องทำความเข้าใจ ศึกษาหาข้อมูล ติดตามข่าวสารเพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์”

เป็นเวลา 4 ปีแล้วสำหรับการสื่อสารด้านการเมืองของสุภาพรวัย 33 ปี เธอบอกว่าความยากคือการทำความเข้าใจกับคำศัพท์และวาทกรรมใหม่ๆ ที่เหล่านักการเมืองสรรหามาพูด เพื่อสื่อสารออกไปให้ผู้รับสารเห็นภาพและเข้าใจความหมายในบริบทนั้นอย่างแท้จริง

“ไม่ใช่ฟังแล้วสามารถแปลได้ทันที ต้องใช้เสี้ยววินาทีคิดและแสดงออกจากความหมายของคำนั้นให้เห็นเป็นภาพและตรงตามเจตนาของผู้พูด”

ล่ามมือ

วาทกรรมใหม่ เป็นความท้าทาย

ถึงแม้ภาษามือจะมีคำศัพท์ที่ถูกบัญญัติประกอบท่าทางเพื่อใช้ในการสื่อสารเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน คำพูดต่างๆ ก็พัฒนาไป ซึ่งนับเป็นความลำบากไม่น้อยในการสื่อสาร

“ภาษาไทยมีการเล่นคำ หรือพัฒนาคำศัพท์ใหม่ๆ อยู่ตลอด เมื่อล่ามได้ยิน เราไม่สามารถที่จะคิดภาษามือได้รวดเร็วขนาดนั้น หากคิดออกก็ไม่กล้าที่จะทำ เนื่องจากการบัญญัติคำและภาษามือไม่ใช่หน้าที่ของล่าม หากแสดงออกไป เสี่ยงที่จะทำให้คนหูหนวกเข้าใจเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนได้”

วิธีแก้ไขเมื่อเจอสถานการณ์ดังว่า คือการเลือกสะกดคำตามตัวอักษร โดยใช้ภาษามือที่มีบัญญัติไว้ ตั้งแต่ ก-ฮ

ทั้งนี้ คำศัพท์ทางการเมืองหลายครั้งยังขึ้นอยู่กับบริบท สถานการณ์ สีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของผู้พูดด้วย

ประยุทธ์สมัย2

จุดเด่นแสดงตัวบุคคล

สำหรับการใช้ภาษามือแทนชื่อบุคคลสำคัญ พิจารณาจากจุดเด่นของแต่ละคน โดยผู้กำหนดภาษามือคือ กลุ่มคนหูหนวก ตัวอย่างเช่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะถูกแทนด้วยการใช้ภาษามือในลักษณะทำท่า ‘ตะเบ๊ะ’ หรือ ‘วันทยหัตถ์’ เนื่องจากเคยเป็นทหารมาก่อน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เลือกใช้จุดเด่นจากทรงผม ที่มีลักษณะเสยขึ้นและเป็นเส้นตรง โดยแสดงท่าทางด้วยการใช้นิ้วมือ 4 นิ้ววางบริเวณหน้าผาก

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา มีทรงผมที่เป็นลักษณะปาดขึ้นด้านข้างแนวโค้ง ท่าทางที่แสดงออกก็คือ ใช้มือปาดข้างจากบริเวณหน้าผาก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความหล่อ จึงแสดงออกด้วยการ ‘วนฝ่ามือเน้นใบหน้า’ ซึ่งแปลว่าหน้าตาดี

ขณะที่หลายคนยังไม่ได้ถูกกำหนดจุดเด่นหรือภาษามืออย่างชัดเจน ล่ามก็จะเลือกชี้นิ้วมือไปที่ภาพของผู้นั้นขณะที่เขากำลังพูดหรือกล้องจับอยู่

วอยซ์ออนไลน์ยังได้ทดลองให้ล่ามแปลคำศัพท์ยอดฮิตทางการเมืองหลายคำ ตัวอย่างเช่น

ประชาธิปไตย เธอทำมือเปรียบเทียบกับเล่มรัฐธรรมนูญที่อยู่บนพาน และใช้มือซ้ายขวาขยับขึ้น-ลงเพื่อแทนเสียงของสองฝ่าย

เผด็จการ เธอทำหน้าตาขึงขัง ชี้นิ้วสั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าสั่งการได้อยู่คนเดียว

ล่ามมือ

คนรุ่นใหม่ เธอยืดหลังตรง แสดงความแข็งแรง และฉีกรอยยิ้มเพื่อให้ใบหน้าสดใสขึ้น

สืบทอดอำนาจ เธอยกมือชูกำปั้นด้วยแขนขวาแล้ว แล้วใช้มือซ้ายลากผ่านเพื่อแสดงถึงการสืบทอด

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เธอวาดมือเป็นรูปครุฑที่แสดงถึงรัฐบาล ก่อนยกมือทั้งสองข้างขึ้น-ลงไปมา เพื่อแสดงถึงคะแนนเสียงที่ห่างกันไม่มาก

นอกจากนี้ยังมีประโยคที่กำลังฮือฮาอย่าง ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นคำที่อธิบายได้ยากมาก และไม่แน่ใจถึงความหมายของคำนี้

อกอกฟอ.jpg

เป็นกลางให้มากที่สุด

สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก สำหรับวิชาชีพล่ามคือการแปลข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นกลาง เก็บงำความรู้สึกส่วนตัวให้แล้วสิ้น

“แม้ในใจคุณจะคิดอย่างไร เห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่เวลาที่เราปฏิบัติงาน ต้องเป็นกลางที่สุด ไม่เอนเอียง ทั้งสีหน้า ท่าทางและมือ” 

การทำหน้าที่ประชุมรัฐสภา จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ 3 คน คนละ 20 นาที ค่าตอบแทนคิดเป็นรายชั่วโมง อัตราขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน รวมถึงระเบียบของผู้ว่าจ้าง ซึ่งหน่วยงานราชการอย่างรัฐสภา อาจจ้างไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเอกชน

“รายได้แตกต่างกันออกไป เริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 600 บาท” ล่ามสาวที่เคยทำหน้าที่สูงสุด 12 ชั่วโมง สมัยประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าวและบอกว่าความเมื่อยล้าถือเป็นเรื่องปกติของอาชีพนี้

ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ปี 2561 มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,041,159 คน (ร้อยละ 3.08 ของประชากรทั้งประเทศ)

โดยมีผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย มีจำนวน 375,680 คน (ร้อยละ 18.41) คิดเป็นอันดับ 2 ของผู้พิการทั้งหมด ล่ามภาษามือถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลว่าการประชุมทุกครั้งในรัฐสภาจะดำเนินไปโดยยึดถือเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และได้รับทราบข้อมูลโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกันกับประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ

“เราภูมิใจที่ได้เป็นตัวกลางสื่อสารเนื้อหาและข้อมูลออกไปให้กับผู้พิการหูหนวกทั่วประเทศได้เข้าใจ รับทราบ ไม่ตกหล่นเรื่องราวที่เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศ” สุภาพรทิ้งท้าย

ล่ามมือล่ามมือ

อ่านข่าวอื่นๆ :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog