ไม่พบผลการค้นหา
สนช.ใช้เวลา 4 ชั่วโมง พิจารณา 3 วาระรวด เห็นชอบงบฯ กลางปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ปล่อยเงินอัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก โครงการประชารัฐ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ดันยอดคงค้างหนี้สาธารณะพุ่งเป็น 6.5 ล้านล้านบาท

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (22 มี.ค.) มีมติผ่าน 3 วาระรวด ���่างพระราชบัญญัติรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 183 งดออกเสียง 3 ไม่เห็นด้วยไม่มี

โดยตั้งกรรมาธิการเต็มสภา พิจารณา 3 วาระรวดภายในเวลา 4 ชั่วโมง

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

หนึ่ง ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ประมาณ 100,358 ล้านบาท ตามเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน 4,600 ล้านบาท เป็นการจัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 24,301 ล้านบาท จัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต 21,078 ล้านบาท และจัดสรรตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชีวิต 50,379 ล้านบาท

สอง ชดใช้เงินคงคลัง 49,642 ล้านบาท เนื่องจากมีการเบิกจ่ายเงินคงคลัง เพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำนาญ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำแนกตามมูลค่าการใช้จ่ายได้ดังนี้

1.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,642 ล้านบาท

2.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 34,023 ล้านบาท

3.กระทรวงมหาดไทย 31,876 ล้านบาท

4.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 22,742 ล้านบาท

5.งบกลาง จำนวน 4,600 ล้านบาท

6.รัฐวิสาหกิจ 3,989 ล้านบาท 

7.กระทรวงแรงงาน 2,120 ล้านบาท

8.กระทรวงอุตสาหกรรม 499 ล้านบาท

9.กระทรวงพาณิชย์ 258 ล้านบาท

10.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 106 ล้านบาท

11.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 72 ล้านบาท

12.กระทรวงวัฒนธรรม 68 ล้านบาท

13.กระทรวงการคลัง 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียนที่มีงบประมาณเพิ่มเติม 34,023 ล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 20,000 ล้านบาท กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตั้งงบฯ จำนวน 13,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงบฯ ที่เคยตั้งไว้เมื่อปี 2559

ส่วนกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมากที่สุด ด้วยวงเงิน 31,876 ล้านบาท แบ่งเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 20,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในหมู่บ้านและชุมชน 82,000 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยชุมชนละ 200,000 บาท กรมการปกครอง 2,500 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายค่าเดินทาง และค่าเบี้ยเลี้ยงคณะทำงานตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของปลัดจังหวัด และกรมการพัฒนาชุมชน 9,300 ล้านบาท สำหรับพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสินค้า OTOP ไปพร้อมกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ด้านงบกลาง ซึ่งดูแลควบคุมโดยสำนักงานงบประมาณ จำนวน 4,600 ล้านบาท จะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน 

งบกลางปี 61.jpg

'สมคิด' ย้ำเพิ่มงบกลางปี รักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การจัดสสรรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นการจ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล สำหรับรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน จึงต้องเตรียมงบประมาณไว้สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 และร้อยละ 3.9 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9-1.9 บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผลิตภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวเข้าสู่ภาวะปกติและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้น้อยลง ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลพืชผล และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมถึงการขับเคลื่อนการปฏิรูปทางการเกษตร และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโดยส่วนรวมเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

'ขุนคลัง' ยันกู้ 1 แสนล้าน ไม่กระทบวินัยการคลัง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แหล่งที่มาของงบกลางปี 2561 จะกู้เงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มียอดรวมหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของจีดีพี ยืนยันว่ายังไม่เกินวินัยการคลังที่ตั้งไว้ที่ระดับร้อยละ 60 ของจีดีพี

"ประเทศไทยมีกำลังเพียงพอที่จะกู้ได้ ไม่เป็นภาระ และเงินกู้นี้ก็จะกระจายไปสู่ประชาชนฐานราก เพื่อให้คนจำนวนหนึ่งพ้นจากความยากจน ด้วยการใช้ระบบพร้อมเพย์จ่ายเงินตรงให้ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้งบประมาณถึงมือประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย" นายอภิศักดิ์กล่าว

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการตรวจสอบงบประมาณ ว่าต้องไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้งบประมาณในพื้นที่ อย่างกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า จนทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดซื้อและไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปี 10 เดือน ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ที่มีการของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี รวมแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท ไล่ตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ปี 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และล่าสุดปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลคสช. เคยยืนยันมาตลอดว่า จะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2561 ยังถูกมองว่าเป็นการเตรียมรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สนช. จ่อฉลุยงบฯกลางปี 1.5 แสนล้าน อัดฉีด 'ประชารัฐ' ปลุกเศรษฐกิจฐานราก