เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาฝายมีชีวิต ว่า ตนได้หารือในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร) เรื่อง การพัฒนาฝายมีชีวิต โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงาน ว่า ฝายมีชีวิตเป็นการสร้างโดยชุมชน รัฐสนับสนุนงบไม่มาก
รูปแบบเป็นการสร้างฝายแบบวางกระสอบดินทรายจากพื้นน้ำขึ้นมา และมีขั้นบันไดลาดลงสองฝั่ง ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ปลาสามารถว่ายทวนขึ้นไปกระจายพันธุ์ได้ และมีความแข็งแรงจากรูปทรงลักษณะหูช้างของสองฝั่งริมฝาย เสริมด้วยการปลูกต้นไทร ไว้สองข้าง รวม 4 ข้าง (2ฝั่ง) รากของไทรจะช่วยยึดฝายให้มั่นคง และสร้างความชุ่มชื้น ซึ่งระยะต่อไปจะเกิดต้นไม้หนาแน่นขึ้น เกิดแอ่งน้ำให้ชุมชนและมีน้ำสมบูรณ์แม้ในหน้าแล้ง ลดความรุนแรงของน้ำในหน้าฝน
ปัจจุบันมีฝายกระจายอยู่ 815 ฝาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคในการสร้างฝายคือการขออนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการ เพราะส่วนใหญ่อยู่เขตอนุรักษ์ป่าไม้
“รัฐบาลมีเป้าหมายสร้างฝายมีชีวิตทั่วประเทศ 60,000 ฝายในระยะ 5 ปี โดยปี 2562 จะสร้างเพิ่มขึ้น 6,000 ฝาย โดยมีต้นทุนต่อฝายเพียง 50,000 บาท ซึ่งในที่ประชุมได้พิจารณาให้หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพรรณพืช เข้าร่วมดำเนินการ เพื่อลดอุปสรรคด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีการระบุพิกัดสร้างฝายชัดเจนขึ้น และระดมทุนจากภาคเอกชนที่มีโครงการเพื่อสร้างสังคมเข้ามาสนับสนุนด้วย” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: