นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการต่างประเทศ แถลงข่าวชี้แจ้งกรณีการส่งผู้ตัวร้ายข้ามแดน คือ นายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ให้กับประเทศบาห์เรนตามหมายจับของตำรวจสากล ว่า สาเหตุของการส่งฟ้อง นายฮาคีม ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้กับทางการบาห์เรน เนื่องจากการตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า การกระทำผิดของ นายฮาคีม ในข้อหาทำลายทรัพย์สินทางราชการ และ มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง ทำให้เข้าหลักเกณฑ์การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ถึงแม้ว่าประเทศไทยกับประเทศบาห์เรนจะไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็สามารถส่งตัว นายฮาคีม ให้ฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้ หากประเทศบาห์เรนได้ทำหนังสือขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทย และ มีความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และ จะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนผ่านทางการทูต
ด้านนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ส่วนศาลจะมีดุลพินิจอย่างไรไม่สามารถก้าวล่วงได้ พร้อมยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่มีฝ่ายใดเข้ามาแทรกแซง หรือกดดันการทำงานได้ ซึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี นายฮาคีม ในฐานะจำเลย สามารถยื่นคัดค้านคำร้องได้ตามสิทธิทุกประการ และยังสามารถขออุทธรณ์คำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้อีกด้วย
ส่วนเหตุผลของการคัดค้านการประกันตัวนั้น เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทยแน่นอน ทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีออกนอกประเทศ และที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติจำนวนมากหลบหนีคดีในระหว่างการประกันตัว
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีดังกล่าว คาดว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 2 – 3 เดือน จึงจะสามารถมีคำพิพากษาได้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนมาก และจำเป็นต้องใช้เวลาไต่สวนพยานหลักฐานให้ครบถ้วน ส่วนคดีดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลเพียงผู้เดียว แต่หากบาห์เรนและออสเตรเลีย สามารถตกลงกันได้นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศที่จะต้องเจรจากับกับทั้ง 2 ประเทศ ว่า จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับตัว นายฮาคีม อย่างไร
วันที่ 6 ก.พ. 2562 กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี 'ฮาคีม' โดยมีข้อชี้แจง 6 ประการ คือ 1. ประเทศไทยไม่รู้จักนายฮาคีม ไม่มีอคติต่อตัวบุคคลและคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการมาไทยของเขา หากไม่ใช่ Interpol ของออสเตรเลียที่ได้แจ้งเตือนเรื่องหมายแดงของนายฮาคีมแต่แรก และหากทางการบาห์เรนไม่ได้มีคำร้องขออย่างเป็นทางการให้จับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายฮาคีม ซึ่งไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือ ให้จับเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
2. ทางการออสเตรเลียใช้เวลาหลายวันหลังจากที่นายฮาคีมเดินทางถึงไทยในการแจ้งการยกเลิกหมายแดง ซึ่งในขณะนั้น กระบวนการทางกฏหมายในไทยได้เริ่มขึ้นแล้วและไม่สามารถย้อนกลับได้
3. ขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ในการเดินตามขั้นตอนของกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ซึ่งเป็นหลักสากลและเชื่อว่าออสเตรเลียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นเดียวกัน
4. ขออย่าได้ด่วนสรุปว่าไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน เรื่องนี้ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งมีพื้นฐานจากหมายจับ/หมายศาลของบาห์เรน เมื่อเขาหนีความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนมา และบาห์เรนได้ขอให้คุมตัวเมื่อมาไทย พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานทางกฎหมายให้ฝ่ายไทย พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงดำเนินการต่อไปแล้ว
5. ขณะเดียวกันศาลไทยพร้อมรับหลักฐานทุกชิ้นทุกชนิดที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรมต่อนายฮาคีมที่ทนายของนายฮาคีมจะนำส่งให้ศาลพิจารณา
6. ไม่มีส่วนใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการควบคุมตัวนายฮาคีม แต่ในฐานะรัฐอธิปไตยที่มีพันธะทางกฎหมายและความถูกต้องต่อสังคมโลก ไทยได้มาพบว่าเพื่อนที่ดีของไทย 2 ประเทศเกิดแย่งตัวบุคคลคือนายฮาคีมที่มาประเทศไทย ในภาวะดังกล่าวไทยมีทางเดินอันชอบธรรมเพียงว่า (1) ให้ความร่วมมือทางด้านกฎหมายและ (2) เสนอแนะให้เพื่อนที่ดีทั้งสองนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันด้วย หันหน้าหารือ หาทางออกในปัญหาซึ่งเป็นของตนเองเสีย แทนการผลักดันหาทางออกทางอ้อมจากไทยซึ่งเผอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ในภาพของประเด็นปัญหานี้ซึ่งเพื่อน 2 ประเทศของไทยมีระหว่างกันมาแต่ก่อน
7. การขอให้ออสเตรเลียกับบาห์เรนคุยกัน หาทางออกร่วมกัน จึงเป็นท่าทีโดยชอบธรรมของไทย และไม่ว่าแนวทางออกร่วมกันดังกล่าวจะมาในรูปแบบใด ไทยก็ยินดีจะช่วยส่งเสริมให้เป็นจริงและบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็น win-win
8. ไทยหวังว่าทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนจะมีมิตรไมตรีที่ดีเพียงพอที่จะร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ หากผลลัพธ์เป็น win-win เชื่อได้แน่นอนว่า คนไทยและผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกที่รับรู้เรื่องนี้จะสรรเสริญทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนอย่างแน่นอน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงย้ำว่ารัฐบาลของตนจะกดดันให้ทั้งบาห์เรนและไทยปล่อยตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลียโดยเร็วที่สุด พร้อมย้ำว่า รู้สึกขัดเคืองใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นภาพฮาคีมถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลอาญารัชดาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ทั้งที่มีโซ่ตรวนพันธนาการ และเชื่อว่าคนออสเตรเลียจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน แต่ตนจะพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อนำตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย
ก่อนหน้านี้ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าออสเตรเลียรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ฮาคีมอย่างเป็นทางการแล้ว ทางการไทยจึงควรพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลีย และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในบาห์เรนกล่าวว่า ข้อกล่าวหาของรัฐบาลบาห์เรนที่ระบุว่าฮาคีมมีความผิดในข้อหาทำลายสถานที่ราชการ ขัดแย้งกับคำให้การของฮาคีมที่ยืนยันว่าเขากำลังแข่งขันฟุตบอลนัดที่มีการถ่ายทอดสดในขณะที่เกิดเหตุประท้วงจลาจลครั้งใหญ่ในบาห์เรนเมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นเหตุให้ทางการบาห์เรนกล่าวหาว่าเขาอยู่ร่วมก่อเหตุ
ฮาคีมระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลบาห์เรนจับกุมและทำร้ายร่างกาย รวมถึงข่มขู่ว่าจะไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อีก แต่ทางการบาห์เรนปฏิเสธว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายใดๆ เกิดขึ้น ส่วนทางการออสเตรเลียพิจารณาคำร้องของฮาคีมประกอบกับรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายๆ ด้าน และตัดสินใจอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยและให้วีซ่าพำนักอาศัยถาวรแก่ฮาคีมตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ส่วนณัฐาสิริ เบิร์กแมน ทนายความของฮาคีม เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ก่อนหน้านี้ว่า หมายแดงของอินเตอร์โพล เป็นหมายขอความร่วมมือหรือแจ้งว่าบุคคลที่ถูกออกหมายแดงเป็นที่ต้องการตัวโดยประเทศที่เป็นสมาชิกอินเตอร์โพล แต่ไม่ได้มีผลบังคับให้ทางการในประเทศนั้นๆ ต้องจับกุม ทางการไทยจึงสามารถดำเนินการได้ 2 ประการต่อบุคคลที่มีหมายแดง คือ 1. ปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ และ 2. ส่งตัวกลับไปยังประเทศที่หน่วยงานอินเตอร์โพลเป็นผู้ออกหมายแดง ซึ่งในกรณีนี้ึคือประเทศออสเตรเลีย
ทางการไทยได้กักตัวฮาคีมเอาไว้และไม่ได้ส่งตัวกลับออสเตรเลีย ขณะที่รัฐบาลบาห์เรนก็ได้ยื่นคำร้องต่อทางการไทยเพื่อขอให้ส่งตัวฮาคีมในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังบาห์เรน แม้ว่าไทยกับบาห์เรนจะไม่มีข้อตกลงทวิภาคีในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยชี้แจงว่า ฝ่ายบาห์เรนสามารถขอให้ไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ซึ่งมีเงื่อนไขว่า "อยู่บนพื้นฐานของหลักประติบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียแล้ว และไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน นักสิทธิมนุษยชนจำนวนมากระบุว่าไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ หรือ non-refoulement เพราะการส่งฮาคีมกลับไปยังประเทศที่เขาหนีมาจะทำให้เขาเสี่ยงอันตราย อีกทั้งออสเตรเลียก็ยืนยันว่าจะรับตัวฮาคีมกลับไปอยู่แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง