ไม่พบผลการค้นหา
ภรรยา 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' เขียนจดหมายถึง 'ประยุทธ์' ขอปล่อยตัวสามีกลับประเทศ ระบุ คุมตัวผู้ลี้ภัยการเมืองขัดหลักการ 'ไม่ส่งกลับ' ที่ผู้นำไทยให้คำมั่นกับสหประชาชาติเมื่อปี 2559 พร้อมยกกรณี 'ราฮาฟ' ย้ำคำรัฐบาลไทยที่ว่าจะไม่ส่งใครกลับไปเสี่ยงตาย

ณัฐาสิริ เบิร์กแมน จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเอเว่น โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) เป็นตัวแทน 'ฮาคีม อัล-อาไรบี' อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนที่ถูกทางการไทยจับกุมและคุมขังตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2561 เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการส่งกลับ และจดหมายที่ภรรยาของฮาคีมเขียนถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล วันนี้ (30 ม.ค. 2562) โดยเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและมีสิทธิพำนักอาศัยถาวรแล้ว

ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของภรรยาฮาคีม ระบุว่า "พวกเราเพิ่งแต่งงานกัน สามีของฉันจึงอยากจะมีช่วงเวลาที่พิเศษร่วมกัน เราเดินทางมายังประเทศไทย เพราะเราคิดว่าที่นี่จะเป็นสถานที่ฮันนีมูนที่สมบูรณ์แบบ พวกเราเดินทางด้วยความตื่นเต้นและมาถึงประเทศไทย เพียงเพื่อจะต้องเผชิญกับการถูกจองจำและภัยคุกคามที่สามีของฉันอาจจะถูกส่งกลับไปบาห์เรน ซึ่งเขาชีวิตของเขาอาจตกอยู่ในอันตราย"

"ฉันอยู่กับสามีของฉันในช่วง 10 วันแรกที่เขาถูกควบคุมตัว คุณจินตนาการไม่ออกหรอกว่าเราต้องเผชิญกับความรวดร้าว หวาดกลัว และกดดันมากเพียงใดในขณะที่เราถูกคุมขัง เราไม่รู้ภาษาที่จะใช้เจรจากับเจ้าหน้าที่ของไทย เราไม่มีทนาย และเราพยายามทำความเข้าใจในฝันร้ายที่กำลังเผชิญ ท้ายที่สุด ฉันต้องเดินทางกลับออสเตรเลียเพียงลำพัง ฉันไม่มีใครในครอบครัวอยู่ที่นี่ มีเพียงแค่ความหวังอันริบหรี่ว่าสามีของฉันจะได้กลับบ้าน" 

ณัฐาสิริ เบิร์กแมน.jpg
  • ตัวแทนฮาคีม อัล-อาไรบี ยื่นจดหมายที่ภรรยาของเขาเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

"ฉันได้เห็นบทบาทที่น่ายกย่องก่อนหน้านี้ของทางการไทย ในกรณีของราฮาฟ (อัลกุนุน) หญิงสาวที่ต้องการลี้ภัยจากการถูกคุกคามในซาอุดีอาระเบียโดยผ่านมายังประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้มีความคล้ายคลึงกับสามีของฉัน ในตอนนั้น เจ้าหน้าที่ของไทยยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวใครให้ต้องกลับไปตาย ทางการไทยช่วยเหลือและสนับสนุนราฮาฟ ทั้งยังอนุญาตให้เธอเดินทางไปยังแคนาดา ฉันจึงได้แต่หวังว่า สามีของฉันจะได้รับอนุญาตให้กลับคืนมายังออสเตรเลียเช่นกัน"

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.พ.ที่จะถึง อัยการมีกำหนดยื่นให้ศาลไทยพิจารณาว่าจะส่งตัวฮาคีมในฐานะ 'ผู้ร้ายข้ามแดน' กลับไปยังบาห์เรนตามคำร้องขอที่รัฐบาลบาห์เรนมีต่อทางการไทยหรือไม่ แต่ที่ผ่านมามีกระแสเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวฮาคีมมาโดยตลอด

สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย รวมถึงมารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ต่างคัดค้านการคุมขังฮาคีม พร้อมทั้งคัดค้านที่ทางการไทยอาจจะพิจารณาส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรน ขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า และวงการฟุตบอลออสเตรเลีย นำโดย 'เครก ฟอสเตอร์' อดีตกััปตันฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย ต่างเรียกร้องกับไทยว่าฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว จึงไม่ควรต้องถูกส่งกลับไปยังบาห์เรน พร้อมย้ำให้ปล่อยตัวเขาอย่างเร่งด่วน

ก่อนหน้านี้ในปี 2559 ผู้แทนรัฐบาลไทยให้คำรับรองกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าไทยจะผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อนำหลักการไม่ส่งใครกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement) มาบังคับใช้ และแสดงความพร้อมในการร่วมมือกับไทยจัดทำระบบคัดกรองผู้โยกย้ายถิ่นฐานด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: