25 ก.พ. 2566 เวลา 16.50 น. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้เดินทางมาเยี่ยม ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมซึ่งอดอาหารประท้วงสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองอีก 3 รายที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวคือ คทาธร และถิรนัยกับชัยพร โดยตะวันและแบม เพิ่งย้ายออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 ก.พ. เพื่อมาปักหลังอดอาหารต่อที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม สุลักษณ์ ไม่สามารถเข้าเยี่ยมทั้งคู่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต จึงได้มอบหนังสือที่เตรียมมาผ่านยัง ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสาวัดปทุมแทน
ณัฏฐธิดา ระบุว่าเบื้องต้นผู้ที่จะมาเข้าเยี่ยมได้จะมีเฉพาะพ่อแม่และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านสุขภาพของตะวัน และแบม เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะโรคโควิด-19 เพราะทั้งคู่อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอมาก อย่างไรก็ตามในส่วนของตะวัน สามารถคุยโต้ตอบได้ แบม ก็เช่นกัน ค่าความดันยังปกติ เป็นห่วงคือค่าออกซิเจนในเลือด
สุลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ที่มาเพราะต้องการให้กำลังใจ และถือว่าทั้งคู่เปรียบเหมือนเป็นประทีปนำทางให้พวกเรา รู้สึกเสียดายที่กระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่เห็นความสำคัญของชีวิตคน
"ถ้ามีหัวใจบ้าง มันจะมีความหวัง ความหวังอยู่ที่ 2 คนนี้ ไม่ได้อยู่ที่คนข้างบนแล้ว เชื่อว่าคนดี มี" นายสุลักษณ์กล่าว
ต่อมาในเวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้ร่วมทำกิจกรรมยืนหยุดขัง 1.12 ชม. ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 262 มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เข้าร่วมด้วย กระทั่งเวลา 18.42 น. ครบเวลาเสร็จสิ้นกิจกรรม นายพันธ์ศักดิ์ แกนนำกลุ่ม จึงชักชวนมวลชนหารั้วหันหน้าเข้าศาลฎีกา พร้อมชู 3 นิ้ว และกล่าวคำแสดงเจตนารมณ์ว่า ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยผู้บริสุทธิ์ คืนสิทธิการประกันตัว ยกเลิก 112 ศักดินาจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ ตะวัน-แบม สู้ๆ ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับบางส่วนยังปักหลักค้างแรมหน้าศาลฎีกาเป็นเพื่อนตะวัน-แบมต่อไป
ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่เอกสาร ชี้แจงกรณีตะวัน และแบมประจำวันที่ 25 ก.พ. โดยระบุคำพูดของแบมว่า "หนูรูสึกว่าเดี๋ยววันจันทร์ก็มาถึง พวกเขาก็ต้องเข้ามาทำงานผ่านประตูตรงนี้ที่เราสองคนนอนอยู่ เขาอาจจะทำเป็นไม่เห็นหนูก็ได้ แต่หนูก็ยังอยู่ตรงนี้ พวกเรายังอยู่ตรงนี้"