ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุนิยมวิทยา เผยภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนัก เตือนระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2561

สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.


เร่งพร่องน้ำ 4 เขื่อนใหญ่รองรับปริมาณน้ำ

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง ดังนี้

เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 760 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 124 ซม. (เมื่อวาน 91 ซม.) ระบายน้ำออกรวม 294.18 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มการระบายน้ำยังคงสูง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จะมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมากในช่วงสัปดาห์นี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี (06.00 น.) บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.36 ม. (เมื่อวาน 0.34) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 221.15 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 223.50) ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำโดยการระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรีให้เต็มศักยภาพลำน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเขื่อน โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน โดยศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 6/2561 (16 ส.ค.61) ให้เร่งดำเนินการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นโดยให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุดและประสานจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 530 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 531) คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 3.65 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 4.41) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.37 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 5.27) สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนครการบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจ.สกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน 

เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (060.00 น.) มีปริมาณน้ำ 7,940 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 7,878) คิดเป็น 90% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 104.97 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 103.70) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.17 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 41.19)

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำ 23-27 ส.ค. 61 จะปรับการระบายน้ำเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. (เดิม 43) เพื่อเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ได้ประสานแจ้งจังหวัด และพื้นที่ให้ทราบการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ (วานนี้) ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 3.96 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.11 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 49 ซม. (ข้อมูล 06.00 น. วันนี้ยังไม่ได้รับรายงาน)

สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากอิทธิพลของฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่ 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง