ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวรอยเตอร์เผยรายงานพิเศษกรณีสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ซึ่งกองทัพเมียนมาระบุว่าเป็นการสกัดกลุ่มก่อการร้าย แต่ภาพถ่ายและปากคำของชาวพุทธที่อยู่ในเหตุการณ์ บ่งชี้ว่าทหารเมียนมา 'มีบทบาทสำคัญ' ในการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา โดยมีคำสั่งและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

หลุมศพหมู่ชาวโรฮิงญา 10 ราย ถูกพบที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 ซึ่งกองทัพเมียนมาออกมายอมรับว่า ทหารของรัฐบาลและทหารพราน เป็นผู้วิสามัญฆาตกรรมชายชาวโรฮิงญาทั้งสิบราย โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มผู้ตายเป็นสมาชิกของกองกำลังก่อการร้ายโรฮิงญาที่ก่อเหตุโจมตีหน่วยความมั่นคงในรัฐยะไข่ ทั้งยังระบุว่า เกิดเหตุปะทะรุนแรงในช่วงดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้ตายทั้ง 10 รายไปขังที่สถานีตำรวจได้

คำแถลงของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นหลังจากที่ วา โลน และ จอ โซ อู นักข่าวชาวเมียนมา 2 รายซึ่งทำงานให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเปิดเผยข้อมูลลับของราชการให้สื่อต่างชาติ และได้ข้อมูลมาด้วยการมิชอบ ซึ่งเอกสารในชั้นศาลระบุว่า ข้อมูลลับที่ทำให้นักข่าวรอยเตอร์ทั้งสองคนถูกจับ เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาทั้ง 10 รายในหมู่บ้านอินดิน และรอยเตอร์ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในรายงานพิเศษชื่อ How Myanmar forces burned, looted and killed in a remote village ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ วันนี้ (9 ก.พ. 2561)

ปากคำ 'ชาวพุทธ' ผู้อยู่ในเหตุการณ์

รายงานพิเศษของรอยเตอร์เป็นการเปิดเผยกระบวนการของทหารที่จัดตั้งพลเรือนให้เข้าร่วมในการขับไล่และสังหารชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา และย้ำว่ารายงานทั้งหมดที่ออกมาก่อนหน้านี้รวบรวมข้อมูลจากการให้ปากคำของชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่นี่เป็นรายงานฉบับแรกที่มีคำให้การของชาวพุทธในรัฐยะไข่ ซึ่งยอมรับว่าพวกเขาคือหนึ่งในผู้จุดไฟเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญา ทั้งยังเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่ทหารสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา และบางคนยอมรับว่าเป็นผู้ขุดหลุมเพื่อเตรียมฝังศพชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดินด้วยตัวเอง

โซ ชาย นายทหารที่เกษียณจากกองทัพ วัย 55 ปี เปิดเผยว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้ขุดหลุมฝังศพ และเห็นเหตุการณ์ที่ทหารเมียนมายิงชายชาวโรฮิงญาแต่ละราย ผู้ถูกยิงส่วนใหญ่เสียชีวิตทันที เพราะถูกยิงคนละประมาณ 2-3 นัด แต่มีบางรายยังส่งเสียงร้องขณะที่ถูกนำร่างไปไว้ในหลุม

Untitled.png

ชาวโรฮิงญาจากหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ ที่ถูกทหารพม่าจับตัวและสังหาร

โซ ซาย ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า กองทัพทหารเมียนมาจับชายชาวโรฮิงญา 3 คนและผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่ซ่อนตัวในกองฟางในหมู่บ้านอินดินได้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. และชายคนหนึ่งในนั้นได้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพการกระทำของทหาร เขาจึงถูกนำตัวออกมาจากที่ซ่อน และทหารสั่งกับโซ ซายว่า "ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ" เขาจึงหยิบดาบขึ้นมาแทงชายคนนั้น และทหารก็ยิงซ้ำ จนชายคนดังกล่าวเสียชีวิต

ขณะที่ อัง มิต ทัน อายุ 20 ปี ผู้ช่วยหมอของคลินิกในหมู่บ้านอินดิน กล่าวว่า เขาเห็นผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนุ่งจีวรพระและถือน้ำมันก๊าดเข้าไปเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา ตำรวจแถวนั้นขู่ด้วยว่า ถ้ามีการถ่ายรูปจะยิงหรือฆ่าเขาและเพื่อนๆ ทิ้ง ทั้งนี้ บ้านเรือนของชาวโรฮิงญานั้นมุงด้วยหลังคาที่เป็นฟาง ทำให้ติดไฟได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ ชาน เต็ง หนึ่งในหัวหน้าชุดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน กล่าวว่า ในตอนแรกทหารได้เข้าไปแฝงตัวในหมู่บ้านของชาวมุสลิม และหลังจากนั้น ทหารเหล่านี้ก็เข้าไปในหมู่บ้านชาวพุทธและเผาทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา

เณรชาวยะไข่รูปหนึ่งกล่าวว่า ขณะที่เกิดจลาจลนั้น เขาได้ยินเสียงเด็กทารกชาวโรฮิงญาส่งเสียงร้องอยู่ในบ้านที่กำลังถูกเผา และชาวบ้านอีกคนหนึ่งบอกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งการเผาทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา เพราะได้รับคำสั่งและเชื่อว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

aW1hZ2UvMjAxOC0wMi8wNTE5OTU5ZWU3ODA5OTA1MzAzZjQ4NGNhMTdlNmQ4ZS5qcGc=.jpg

การสังหารหมู่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ผู้อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่หมู่บ้านอินดิน ระบุว่าทหารและทหารพรานราว 80 นายของกองพลน้อยที่ 33 แห่งกองทัพเมียนมา เข้าไปในหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. หรือ 3 วันหลังจากที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจ ด่านตรวจ และค่ายทหารเมียนมาพร้อมกันหลายจุด 

ทหารเมียนมาสั่งให้ชาวพุทธในหมู่บ้านเป็นผู้จัดหาเสบียงอาหารและเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครคุ้มกันหมู่บ้าน โดยผู้เข้าร่วมที่ยังเป็นเยาวชนจะต้องได้รับคำอนุญาตจากผู้ปกครอง และชาวบ้านได้เสนอตัวเป็นอาสาสมัครราว 20 คน จึงมีการหาอาวุธ เช่น มีด ดาบยาว และไม้หน้าสาม จากนั้นทหารได้นำกลุ่มชาวบ้านอาสาสมัครบุกเผาทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา โดยซาน เต็ง อาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านคนหนึ่ง ระบุว่า ทหารจะบุกเข้าไปขับไล่และสังหารชาวโรฮิงญาก่อน แล้วจึงสั่งให้อาสาสมัครเข้าไปเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาทิ้ง

ไมเคิล จี คาร์นาวาส ทนายความจากสหรัฐฯ ที่ดูแลเรื่องคดีอาชญากรรมข้ามชาติประจำกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่ทหารเมียนมาสังหารชาวโรฮิงญาด้วยการจัดตั้งพลเรือนชาวพุทธเพื่อต่อต้านชาวโรฮิงญานั้น เป็นหนึ่งในกระบวนการของการลบล้างเผ่าพันธุ์ และมีการเลือกวิธีสังหารอย่างเป็นระบบ โดยพุ่งเป้าโจมตีประชากรชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะ

คำให้การของชาวพุทธในหมู่บ้านอินดิน สอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติ ที่รายงานว่าหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถูกเผาเป็นพื้นที่รัศมีกว่า 110 กิโลเมตร และข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า หมู่บ้านของชาวโรฮิงญามากกว่า 350 หมู่บ้านถูกเผาตลอดระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. 2560 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ทาร์ เนง วัย 38 ปี จากหมู่บ้านลองดอน ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านอินดินขึ้นไปทางเหนือราว 65 กิโลเมตร บอกว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้ามาชักชวนให้พวกเขาเข้าไปเป็นกองกำลังชาวพุทธ เพื่อเข้าไปเผาหมู่บ้านกาลา ในเมืองผ่อตี้กาว โดยจะมีตำรวจนำเข้าไปยิงสมาชิกในหมู่บ้านก่อนและให้พวกเขาตามเข้าไปเผาบ้านเรือน ทาร์ เนง บอกเพิ่มเติมว่า ตำรวจเชื่อว่าประชาชนในหมู่บ้านดังกล่าวนั้นเป็นกลุ่มทหารของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา ซึ่งทำให้พวกเขาต้องนำกำลังมาปราบปราม 

ขณะที่เณรรูปหนึ่งจากหมู่บ้าน ตา มัน ธาร์ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านลองดอน ไปทางเหนือ 15 ก.ม. เปิดใจว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเผาทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา โดยเจ้าหน้าที่ทหารกว่า 30 นาย เข้าไปเผาทำลายหมู่บ้านกาลา โดยเอาน้ำมันเชื้อเพลิงมาจากมอเตอร์ไซด์และร้านค้าในตลาด ทั้งนี้ พวกเขาได้แบ่งกองกำลังเป็น 2-3 กลุ่ม แต่ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในหมู่บ้านโดยตรง เพราะได้รับคำสั่งให้คอยดูสถานการณ์บริเวณทางเข้าหมู่บ้านแทน และทหารจะยิงปืนเพื่อเป็นคำสั่งให้เข้าไปเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา 

หมู่บ้านโรฮิงญา เผา

หลุมศพหมู่ที่นำไปสู่การจับกุมนักข่าวรอยเตอร์

นักข่าวรอยเตอร์ทั้ง 2 คนลงพื้นที่เพื่อรายงานข่าวและเก็บข้อมูลในรัฐยะไข่หลังจากกองกำลัง ARSA ก่อเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. พวกเขาจึงได้พบหลุมศพของชาวโรฮิงญาทั้งสิบรายที่ถูกสังหารในหมู่บ้านอินดิน ซึ่งชาวบ้านให้ข้อมูลยืนยันว่า ทหารเมียนมาและพลเรือนชาวพุทธเป็นผู้สังหารชาวโรฮิงญาทั้งสิบราย โดยพวกเขาถูกจับในวันที่ 1 ก.ย. 2560 บริเวณใกล้ชายหาดของหมู่บ้านอินดิน และถูกนำตัวไปเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ โดยทหารได้จัดหาอาหารอย่างดีให้พวกเขารับประทาน ก่อนที่จะลงมือสังหารพวกเขาในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของกองทัพเมียนมา ที่ระบุว่า ผู้ถูกสังหารเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ความรุนแรง

รายงานของรอยเตอร์ซึ่งอ้างอิงปากคำผู้อยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่า หลังจากที่มีการเผาทำลายบ้านเรือนชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดินแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดของชาวโรฮิงญาจะถูกแบ่งให้แก่ประชาชนชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่สิ่งของมีค่า ทั้งรถมอเตอร์ไซค์และวัวควาย เจ้าหน้าที่จะยึดไป ก่อนจะนำไปขายต่อ 

ต่อเรื่องดังกล่าว โฆษกรัฐบาลเมียนมา ซอ เท ระบุว่า "ทางรัฐบาลไม่ปฏิเสธว่าอาจจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราจะไม่ปกปิดการกระทำดังกล่าว ถ้าหากมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางรัฐบาลก็ยินดีที่จะดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่นั้น อยากให้สังคมนานาชาติเข้าใจว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการโจมตีผู้ก่อการร้าย เช่นเดียวกับที่มีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นในยุโรป ในสหรัฐฯ ในลอนดอน นิวยอร์ก วอชิงตัน ดังนั้นต้องคำนึงว่า สิ่งที่สื่อควรนำเสนอคืออะไร

อย่างไรก็ตาม วา โลน และ จอ โซ อู ถูกจับกุมเพราะมีข้อมูลและภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในหมู่บ้านอินดิน และยังไม่ถูกปล่อยตัว นับจากถูกเจ้าหน้าตำรวจจับกุมไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา รอยเตอร์ได้ออกแถลงการเรียกร้องมีการปล่อยตัวของนักข่าวทั้งสองคน และเรียกร้องให้นักข่าวทั้งสองคนได้รับการประกันตัวจากศาล เนื่องจากพวกเขาไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และควรได้รับอนุญาตให้กลับไปรายงานข่าวในพม่าได้อีกครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันใดๆ จากทางรัฐบาล 

ที่มา reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง