สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่เมียนมาจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า 'การลุกฮือ 8888' อันเป็นเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลทหารเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ซึ่งถือว่าเป็นการลุกฮือของประชาชนที่ต้องการให้นายพลเนวินออกจากอำนาจหลังจากที่ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1962 เป็นการประท้วงที่ยาวนานร่วม 6 สัปดาห์และจบลงด้วยการที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถูกปราบอย่างหนัก ตามมาด้วยการที่เหยื่อการปราบปรามจำนวนมากที่ไปลงเอยในเรือนจำเป็นเวลาหลายปีพร้อมเรื่องราวของการถูกทรมาน
จอ พโย ทา เขียนไว้ในเว็บไซต์อิรวดีว่า แม้การลุกฮือหนนั้นจะไม่ประสบผล คือไม่สามารถโค่นล้มเผด็จการได้ แต่นักวิเคราะห์การเมืองเห็นตรงกันว่า การประท้วงหนนั้นนับเป็นจุดหักเหสำคัญของประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเมียนมา เป็นเหตุการณ์ที่ได้ยกระดับความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน และความตระหนักรู้อันนั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงถัดๆ มา จนกระทั่งกลายมาเป็นการที่เมียนมาได้รัฐบาลพลเรือนและได้นางอองซานซูจีเป็นผู้นำในที่สุด
คำถามสำหรับชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ลุกฮือ 8888 ก็คือ เมียนมาได้ดูดซับบทเรียนอย่างไรหรือไม่จากเหตุการณ์หนนั้น และพวกเขาได้ในสิ่งที่ต้องการหรือไม่
โก มายเอ อดีตผู้นำนักศึกษาที่ต่อมาเรียกกันว่า กลุ่มเจเนอเรชั่น 88 เพราะการที่พวกเขาเข้าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนหนนั้นบอกกับเว็บไซต์อิระวดีว่า สิ่งที่เมียนมาเป็นในวันนี้ไม่ได้ตรงกับความฝันของพวกเขา จริงอยู่เมียนมาก้าวมาไกลในแง่ของความเป็นประชาธิปไตย ระบบการเมืองแบบพรรคเดียวได้หมดไป กลุ่มต่างๆ เช่นสหภาพแรงงานและนักศึกษาสามารถเคลื่อนไหวได้ และเมียนมาได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าประชาธิปไตยที่พวกเขามีในเวลานี้เป็นประชาธิปไตยที่มีกรอบและมีการนำ โดยมีรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอาไว้เป็นกรอบ ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ว่า 'ไม่เป็นประชาธิปไตย'
(อองซานซูจีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลพลเรือนเมียนมาปัจจุบัน แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ายังตกอยู่ใต้อำนาจทหาร)
โก มายเอบอกว่าสิ่งที่ทำให้เมียนมายังไม่เป็นประชาธิปไตยในเวลานี้ ก็คือการที่ทหารยังมีสิทธิส่งคนของตัวเองเข้าสู่สภา โดยมีที่นั่งถึงร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด รวมทั้งยังมีคนของตัวเองเข้าคุมตำแหน่งเจ้ากระทรวงสำคัญสามกระทรวง คือกลาโหม กิจการภายในและกิจการชายแดน อีกรายหนึ่ง อูโกโกจี บอกว่า สิ่งที่คืบหน้าน้อยมากก็คือกระบวนการเจรจาเพื่อให้มีการหยุดยิงระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาล หรือความคืบหน้าในแง่การจัดตั้งสหพันธรัฐ
นสพ.เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์กับเวบไซต์แชนแนลนิวส์เอเชียต่างนำรายงานของเอเอฟพี ซึ่งมีบทสัมภาษณ์โกเชล ที่เป็นอีกรายหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์การถูกซ้อมทรมานและถูกจำขังถึง 14 ปีหลังจากที่เขาเข้าร่วมในการลุกฮือ 8888 เขาบอกนักข่าวว่า การต่อสู้ของคนรุ่นก่อนกำลังจะถูกลืมเลือน เพราะเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้รับการบอกเล่าต่อกับสาธารณะ ไม่มีการนำไปสอนให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ในชั้นเรียนต่างๆ
ในช่วง 40 ปีของการอยู่ในอำนาจของทหาร รายงานระบุว่ามีคนถูกจำขังร่วมหมื่น และการอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหารทำให้พม่าหรือเมียนมาโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก การจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองจำนวนมากในเมียนมานั้นเกิดขึ้นในปีที่เกิดเหตุการณ์ 8888 รวมทั้งปีต่อๆมาหลังจากนั้น
หลังเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุม อองซานซูจี บุตรสาวของนายพลอองซาน ก็ได้เดินทางกลับจากประเทศอังกฤษเพื่อไปดูแลแม่ของเธอ เธอเริ่มต้นชีวิตการต่อสู้กับอำนาจของทหารในช่วงนั้นเอง ทว่าหลังจากที่ได้ต่อสู้มาเนิ่นนานรวมถึงถูกกักบริเวณบ้านกว่าสิบปี อองซานซูจีก็ยังคงพูดถึงเรื่องการประนีประนอมกับทหาร
รายงานระบุว่า ในขณะที่สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจีจำนวนถึงหนึ่งในสามผ่านประสบการณ์ถูกจับกุมคุมขังมาแล้ว แต่คนที่เคยมีบทบาทสำคัญๆ ในหนนั้นมักจะไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนั้นคนที่เคยตกเป็นเหยื่อทางการเมืองก็ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่มีการพูดถึงพวกเขา ไม่มีสถานที่ที่สร้างไว้เพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ เหยื่อหลายคนยังคงได้รับผลกระทบทางจิตใจที่สลัดไม่หลุดซึ่งทำให้บางคนยังทำงานไม่ได้ ในขณะที่ทหารก็พยายามส่งเสริมภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความขัดแย้ง เน้นแต่เพียงเรื่องของเอกภาพในชาติ ความขัดแย้งของคนต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ยิ่งเป็นประเด็นที่ถูกละทิ้ง อย่างไรก็ตามปัญหานี้กลับปรากฎตัวให้เห็นอีกครั้งในกรณีของโรฮิงญา
(ทหารเมียนมาจับกุมนักศึกษาที่รวมตัวกันประท้วงต่อต้านกฎหมายห้ามตั้งสหภาพนักศึกษาเมื่อเดือน มี.ค.2558)
รายงานชี้ว่าการจัดการที่ตรงไปตรงมากับความทรงจำในเรื่องการลุกฮือ 8888 เป็นเรื่องที่ยากจะทำได้เพราะทหารที่เคยเกี่ยวข้องยังคงมีอำนาจอยู่ อย่างไรก็ตามก็ยังมีความพยายามของกลุ่มที่ต้องการจะบันทึกความทรงจำเช่นว่านี้เอาไว้ เช่น จอ โซ วินจากกลุ่มสมาคมสนับสนุนนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) กำลังพยายามจัดตั้งพิพิธภัณฑ์บันทึกเรื่องนี้ เขาบอกว่าเป้าหมายก็เพื่อที่จะให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้โดยเฉพาะเกี่ยวกับนักโทษการเมือง เขามีรูปถ่ายจำนวนมากของการเดินขบวน การปราบปราม มีการจำลองภาพเรือนจำ
แต่นอกเหนือจากปัญหาที่ว่า ผู้เกี่ยวข้องยังอยู่ในอำนาจทำให้ยากจะบอกเล่าถึงปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว ธัน มิน อู นักเขียนบอกว่า สังคมเมียนมายังมีปัญหาขาดการถกเถียงกันในเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย
รายงานระบุว่า ขณะที่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังผิดหวังกับรัฐบาลอองซานซูจี โดยเฉพาะกับวิธีที่รัฐบาลรับมือกับปัญหาโรฮิงญา และท่วงทำนองการทำงานที่ว่ากันว่าเป็นการบริหารแบบสั่งการจากบนลงล่าง รวมทั้งการไม่มีผลงานทางด้านเศรษฐกิจ
ขณะนี้กลุ่มอดีตแกนนำจากเหตุการณ์ 8888 ได้รวมตัวกันและเตรียมจะเสนอกลุ่มทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนในการเลือกตั้งปี 2020 และโกโก ยี หนึ่งในแกนนำของกลุ่มบอกว่า เจตนารมณ์ของการลุกฮือหรือการปฏิวัติ 8888 คือมีเป้าหมายอยู่ที่ความเป็นประชาธิปไตย และประชาธิปไตยนั้นเขาบอกว่ามันหมายถึงความหลากหลายหรือพหุวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม มินทุ อดีตนักโทษจากเหตุการณ์ 8888 และเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีบอกว่า ถ้าจะเทียบกับในอดีตแล้ว ขณะนี้บรรยากาศเรื่องเสรีภาพของเมียนมาถือว่าดีกว่าเดิมมาก ประชาชนสามารถแสดงออกให้ความเห็นได้อย่างเสรี พรรคเองก็ให้ความช่วยเหลืออดีตนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง สำหรับในเวลานี้ถือได้ว่าประเทศมีประชาธิไตยและประชาชนจะเลือกใครก็ได้หากไม่พอใจรัฐบาลที่มีอยู่ คำพูดของเขามีนัยบ่งบอกว่าประชาชนมีทางเลือกในการเลือกตั้งหนถัดไป
แต่อดีตนักโทษการเมืองหลายคนกลับรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่สำหรับพวกเขาคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต พวกเขาบอกว่า ปัญหาของพวกเขาคือต้องการเป็นอิสระจากความทรงจำที่เจ็บปวดในวันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: