ไม่พบผลการค้นหา
ครม. รับทราบ พ.ร.ฎ.การคัดเลือก ส.ว. ส่งกฤษฎีกา เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบร่างพระราชกฤษฎีกาการคัดเลือกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เสนอ โดย ส.ว. 250 คน จะมาจาก 3 ส่วนคือ

1. มาโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. มาโดยการเลือกไขว้ 50 คน เลือกกันเองจากผู้สมัครระดับอำเภอ, จังหวัด, และประเทศ จนเหลือ 200 คน ให้ คสช. เลือก 50 คนเป็น ส.ว. และ 50 คนเป็นตัวสำรอง

3. มาโดยการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช. ตั้งขึ้น 9 - 12 คน สรรหาให้ได้ 400 คน (ยังไม่กำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกว่าจะเปิดรับสมัคร หรือเป็นตัวแทนองค์กร) เพื่อให้ คสช. เลือกเป็น ส.ว. 200 คน และสำรอง 50 คน

ขั้นตอนต่อไป ครม. จะส่งร่าง พ.ร.ฎ. การคัดเลือก ส.ว. ไปยังสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และคาดว่าในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีผลบังคับใช้ ก่อนเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการคัดเลือก ส.ว. ในช่วง 26 - 30 พฤศจิกายน 2561 และ กกต. จะจัดให้มีการเลือกไขว้ในช่วง 16 - 27 ธันวาคม 2561 และรวบรวมรายชื่อ 200 คนสุดท้าย ให้ คสช. คัดเลือกเป็น ส.ว. 50 คนในวันที่ 2 มกราคม 2562

ส่วนกรรมการสรรหาจะคัดเลิือกบุคคล 400 คนให้ คสช. เลือกเป็น ส.ว. ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 (ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 15 วัน)

หลังจากนั้น คสช. จะใช้เวลาเลือกผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว. จำนวน 50 คน และ 194 คน รวมกับรายชื่อ ส.ว. โดยตำแหน่งในกองทัพ 6 คน รวมเป็น 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาภายในปลายเดือนเมษายน 2562

พลโทสรรเสริญ ยังเปิดเผยด้วยว่า กกต. ยังของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการคัดเลือก ส.ว. อีกประมาณ 600 ล้านบาท จากเดิม 3,000 ล้านบาท แต่จะต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง และคาดว่า สถานที่ที่ใช้ในการคัดเลือก ส.ว. ในระดับประเทศนั้น กกต. จะใช้ที่อิมแพค เมืองทองธานี