ไม่พบผลการค้นหา
กกต.ขอเวลา 2 สัปดาห์ร่างระเบียบเลือก ส.ว. ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งจะพร้อมทำงานเดือนพฤศจิกายน สำหรับ ส.ส.ต้องรอความชัดเจนหลัง คสช.ปลดล็อก

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต.เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก ส.ว. หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ ว่า กกต.กำลังร่างระเบียบเกี่ยวกับ ส.ว.ซึ่งจะเสร็จใน 2 สัปดาห์จากนี้ ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งในส่วนจังหวัดได้ส่งสำนวนเรื่องร้องเรียนที่มีใน 10 จังหวัดมาส่วนกลางเเล้ว จะส่งให้ กกต. พิจารณาสัปดาห์หน้า ก่อนประกาศรับรองและจัดอบรมในเดือน พ.ย. แบ่งเป็น 5 รุ่น 

โดย พ.ต.อ. จรุงวิทย์ พร้อมด้วยนาย กฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต.ได้ร่วมกันอธิบายพร้อมแจกเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครและเลือก ส.ว.ระบบใหม่ต่อสื่อมวลชน ซึ่ง กกต.จะดำเนินการเลือก 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัดและระดับประเทศ ตาม 10 กลุ่มอาชีพ จะสมัครด้วยตัวเองเป็นผู้สมัครอิสระหรือมีหนังสือแนะนำชื่อจากองค์กรก็ได้ทั้ง 2 วิธี และผู้ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครในระดับอำเภอ ไปเลือกระดับจังหวัด ผู้ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรกในระดับจังหวัด ไปเลือกระดับประเทศ ซึ่ง กกต.จะส่งรายชื่อ 10 อันดับแรกของกลุ่มอาชีพ ให้ คสช.คัดเลือกจำนวน 50 คนเป็น ส.ว.และอีก 50 คนเป็นบัญชีรายชื่อสำรอง

อีกส่วนหนึ่งคือ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกผู้เหมาะสมมา 400 คน ให้ คสช. เลือกเอาจำนวน 194 คน รวมกับ ปลัดกระทรวงกลาโหม , ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพอีก 6 คนที่ได้เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ก็จะครบจำนวน ส.ว. 250 คน

กกต. พร้อมเลือกตั้ง ก.พ. 62

ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. และจากนั้นจะครบ 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่ง กกต. มีความพร้อมจัดการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. ได้แน่นอน แต่พรรคการเมืองยังหาเสียงไม่ได้ จนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปออกมา ส่วนรายละเอียดว่าพรรคการเมืองจะมีขอบเขตหรือข้อห้ามในการหาเสียงอย่างไรบ้าง ต้องดู คำสั่ง คสช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในช่วงนั้น รวมถึงความพร้อมของพรรคการเมืองต่อการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาตามกรอบกฎหมายด้วย

สำหรับการให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม เป็นอำนาจ คสช. ซึ่งต้องคลายล็อกทางการเมืองและประกาศยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมา กกต. มีส่วนร่วมหารือกรอบต่างๆกับ คสช.ด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า คสช.จะคลายล็อกหรือเปิดกว้างให้พรรคการเมืองดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความชัดเจนและการแยกแยะหรือนิยาม ระหว่าง "การหาเสียง" ซึ่งอาจยังทำไม่ได้ กับ"การหาสมาชิก" ที่อาจต้องมีการตั้งเวที รวบรวมคนและประกาศเชิญชวนหรือเสนอนโยบายของพรรค ซึ่งเป็นการชุมนุมทางการเมือง และคล้ายคลึงกับการหาเสียงด้วย โดยย้ำว่า ทุกอย่างต้องรอความชัดเจนจาก คสช.

นอกจากนี้ หลัง คสช. แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว กกต.จึงจะแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ซึ่งต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วยตามกฎหมายใหม่ โดยจะเปิดรับฟังความเห็น 10 วัน รวมกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลา 50-60 วันก่อนประกาศเขตเลือกตั้งได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง