ไม่พบผลการค้นหา
อดีตพนักงานเซนเซอร์เนื้อหารุนแรงบนเฟซบุ๊ก ยื่นฟ้องบริษัทฐานไม่มีมาตรการปกป้องพนักงาน เมื่อได้รับบาดแผลทางจิตใจ จากการต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวัน

'เซเลนา สโกลา' อดีตพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก ยื่นฟ้องร้องบริษัท เฟซบุ๊กว่าไม่ป้องกันบาดแผลทางจิตใจของพนักงาน จากการต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวัน เพื่อพิจารณาว่า เนื้อหาใดที่ละเมิดเงื่อนไขการใช้เฟซบุ๊กหรือไม่ ทำให้เธอได้รับบาดแผลทางจิตใจ และมีอาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD

สโกลาระบุว่า "ทุกวัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์วิดีโอ ภาพ และถ่ายทอดสดการล่วงละเมิดเด็ก การข่มขืน ทรมาน การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ การฆ่าตัดคอ การฆ่าตัวตายและการฆาตกรรมหลายล้านโพสต์"

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีพนักงานตรวจสอบเนื้อหาอย่างน้อย 7,500 คน และมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานในการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ทั้งการรับคำปรึกษาและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ฝึกฝนให้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของ PTSD ได้

อย่างไรก็ตาม สโกลาอ้างว่า เฟซบุ๊กละเลยมาตรการความปลอดภัยในการทำงานของตัวเอง และยังละเมิดกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในการให้พนักงานทำให้ใน "สภาพอันตราย ซึ่งเป็นผลให้เกิดอันตรายทางกายและทางจิต" อีกทั้งยังระบุว่า เฟซบุ๊กไม่ได้จัดอบรมหรือให้มาตรการความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้พนักงานตรวจสอบเนื้อหาต้องดูโพสต์ที่มีเนื้อหารุนแรงวันละหลายพันโพสต์ โดยที่ไม่ค่อยรู้ว่าต้องรับมือกับความเครียดที่ตามมาอย่างไร

ในหนังสือยื่นคำร้องระบุว่า อาการ PTSD ของสโกลาจะถูกกระตุ้นขึ้นมา หากเธอจับเมาส์คอมพิวเตอร์ เข้าไปในอาคารที่อากาศหนาวเย็น เห็นความรุนแรงในทีวีหรือได้ยินเสียงดัง การนึกถึงและพูดคุยเกี่ยวกับภาพที่เธอเห็นบนเฟซบุ๊กก็จะทำให้เธอมีอาการ PTSD ขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ด้านเบอร์ตี ธอมสัน ผู้อำนวยการการสื่อสารองค์กรของเฟซบุ๊กออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เฟซบุ๊กรับรู้ว่างานนี้เป็นงานยาก บริษัทจึงจัดหาการอบรมและสวัสดิการให้กับพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนที่ทำหน้าที่นี้ได้รับความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพ เช่น มีพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับพนักงาน


ที่มา : Time