ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวภูฏานไปใช้สิทธิเลือกตั้งรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยชุดที่ 3 ของประเทศเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยพรรค DNT พรรคกลางซ้ายที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อปี 2013 สามารถกวาดเสียง 30 ที่นั่งในรัฐสภาด้วยแคมเปญ "ลดความเหลื่อมล้ำ" ขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างพรรค DPT ใช้แคมเปญ "ก้าวหน้าด้วยความเที่ยงธรรมและยุติธรรม" ได้ 17 ที่นั่ง ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านต่ออีก 1 สมัย ส่วนพรรครัฐบาลได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอจะลงแข่งในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายได้
การหาเสียงเลือกตั้งช่วงที่ผ่านมาอาจดูไม่คึกคักนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะแทบไม่มีป้ายหาเสียงหรือเวทีปราศรัยใหญ่ๆ แต่การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายเป็นไปอย่างเข้มข้นมากสำหรับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น "ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก"
ประชาธิปไตยภูฏานเพิ่งมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น แต่ก็ทำให้ประชาชนหลายคนรู้สึกไม่มีความสุขนัก เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นักการเมืองให้คำสัญญาที่หรูหราเกินจริง และเหน็บแนมกันไปมา นักการเมืองคนหนึ่งก็ประกาศว่าจะสร้างถนนเข้าหมู่บ้านให้เสร็จภายใน 3 เดือน อีกคนก็สัญญาว่าจะขยายโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้นและสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาด้วย ขณะที่อีกคนก็ออกมาเตือนไม่ให้ชาวบ้านหลงเชื่อคำสัญญาของอีก 2 คน
สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยของภูฏานแตกต่างไปจากประเทศอื่นที่ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการเลือกผู้นำของตัวเอง แต่สำหรับภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก กษัตริย์ภูฏานพระองค์ก่อนทรงเป็นผู้ริเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน
การเลือกตั้งในภูฏานก็แตกต่างเช่นกัน พระสงฆ์ ชี และนักบวชอื่นๆ ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะนักบวชไม่ควรไปเกี่ยวข้องกับศาสนา ห้ามหาเสียงหลัง 6 โมงเย็น ผู้สมัครที่ทำให้คู่แข่ง "เสื่อมเสียชื่อเสียง" จะถูกปรับ และหากถูกถึงประเด็นละเอียดอ่อนอย่างอิทธิพลของเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างอินเดียต่อภูฏาน ก็จะถูกปรับหรือถูกติเตียน เช่น ฝ่ายหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่า "ดีแต่พูด" อีกฝ่ายหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น "พวกชังชาติ" ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งของภูฏานได้สั่งปรับทั้งคู่
นักการเมืองจากพรรค DNT และ DPT ต่างก็ชี้นิ้วเข้าหากันว่า อีกฝ่ายโจมตีตนอย่างหนัก โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ โดยโซนัม ท็อบเกย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของ กกต.กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญของภูฏานก็คือโซเชียลมีเดีย เพราะใครก็สามารถมาโพสต์ข้อความสร้างความแตกแยกในสังคมได้โดยไม่มีใครรู้ จึงสามารถเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและสร้างความเกลียดชังในสังคมได้
ประชาชนในพื้นที่เริ่มมีความเห็นเกี่ยวกับการเมืองที่แตกต่างกันออกไป มีการส่งต่อข้อความสนับสนุนหรือโจมตีนักการเมืองแต่ละฝ่ายกันรายวันผ่านแอปพลิเคชั่น WeChat จนทำให้หลายคนมีปากเสียงกันเพราะความเห็นที่ต่างกัน ประชาชนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่มีอายุแล้วจึงมองว่า ประชาธิปไตยทำให้สังคมแตกแยก
ดอร์จี เพม วัย 66 ปีกล่าวว่า พวกสมาชิกพรรคการเมืองเดินไปตามบ้านเรือนต่างๆ แล้วมากระตุ้นความรู้สึกไม่ดีให้พวกเขา "เป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากจนหัวจะระเบิด" ด้านเชนโช ดอร์จี ชาวนาวัย 68 ปีแสดงความเห็นว่า หากมองในแง่สันติภาพ ความสงบเรียบร้อย และความสามัคคี ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก ดีกว่าการเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันมาก เช่นเดียวกับคาร์มา เทนซิน วัย 58 ปีที่มองว่า หากกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนคงจะมีความสุขกว่านี้
ด้านดอร์จี เพนจอร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาภูฏานและความสุขมวลรวมประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกเศร้ากับความแตกแยกในสังคม ประชาธิปไตยในภูฏานจะสำเร็จได้ แต่โดยธรรมชาติแล้ว ประชาธิปไตยก็มีราคาที่จะต้องจ่าย
ที่มา : Channel News Asia, The Washington Post