สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศนับร้อยคนรวมตัวกันที่อาคารศาลรัฐธรรมนูญเพื่อติดตามรายงานคำวินิจฉัยของศาลช่วงบ่ายวันนี้ (7 มี.ค. 2562) และภายหลังจากที่ศาล รธน.มีมติให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สื่อมวลชนต่างประเทศหลายสำนักก็พร้อมใจรายงานว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้บรรยากาศการเมืองของไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.ที่จะถึงนี้ยิ่งทวีความตึงเครียดขึ้นกว่าเดิม
เวย์น เฮย์ส ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า ตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ 6 ใน 9 คนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ทษช.ครั้งนี้ เป็นผู้ที่เคยตัดสินยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มาก่อน
ขณะที่รอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ รศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของเฮย์ส ระบุว่า คำตัดสินยุบพรรค ทษช. เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในอดีต ซึ่งพรรคการเมือง 2 พรรคที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไปก่อนหน้านี้
รศ.ดร.ฐิตินันท์ระบุด้วยว่า สังคมไทยยังคงแตกแยก กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติ และอดีตนายกฯ ทักษิณ จะต้องแสดงจุดยืนตอบโต้กลับในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. ส่วนกลุ่มผู้ที่ต่อต้านทักษิณก็อาจจะตื่นตัวเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกใหม่
ขณะที่เอเอฟพีและซีเอ็นเอรายงานว่า การยุบพรรค ทษช. ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองไทยซึ่งกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี นับตั้งแต่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกตั้งจนนำไปสู่การก่อรัฐประหารในปี 2557
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องในการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และ ส.ว.เหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อหนึ่ง เป็นกติกาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าช่วยให้รัฐบาลทหารและฝ่ายที่สนับสนุนได้เปรียบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้นปลายเดือน มี.ค.นี้จะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมจริงหรือไม่
ที่มา: AFP/ CNA/ Reuters/ Washington Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: