ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เสนอแนวทางจัดการมรดก คสช. ยึดมั่นหลักการระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐ-สิทธิมนุษยชน พาประเทศหลุดจากวงจรรัฐประหาร

ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเปิดสถานะสาธารณะ เรื่อง 'จัดการมรดกของคณะรัฐประหาร' 6 ข้อ โดยระบุว่า

หนึ่ง ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติในประเด็นเห็นควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยมี วิธีการ คือ

1.1 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มมาตรา 256/1 กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ว่าประชาชนเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกจำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย

1.2 เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256/1 แล้วเสร็จ ก็ให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว

1.3 เมื่อประชาชนเห็นชอบกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ซึ่งได้รับรองให้ประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยกฎหมายทำให้ไม่สามารถโต้แย้งว่าคำสั่งและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมส่งผลให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีการยกเลิก มาตร 279

สาม ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิก ประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด โดยเริ่มจากการจำแนกประเภทประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งในกรณีประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหน. คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือในกรณีมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากประกาศ/คำสั่ง คสช และคำสั่งหน. คสช ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

หรือในกรณีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้วย

สี่ เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆ ต่อการรัฐประหารหรือการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

ห้า เพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมของประชาชนกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น

หก ให้ทบทวนพระราชบัญญัติทั้งหมดที่ออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปิยบุตร โพสต์ข้อความเสริมว่า ข้อเสนอทั้งหมดอยู่บนหลักการของระบอบประชาธิปไตย นิติรัฐและสิทธิมนุษยชน หากอยู่ยืนอยู่บนหลักการแบบเผด็จการก็จะมองว่าเป็นข้อเสนอที่แรง แต่ในทางกลับกัน หากใครมองว่าการรัฐประหารของกองทัพไม่ถูกต้องก็น่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดเกิดจากการศึกษาค้นคว้ามาจากแหล่งทั้งทางตำรา คำอธิบาย ประวัติศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ และระบบกฎหมายเปรียบเทียบ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันข้อเสนอทั้งหมดคือการแก้ไขปัญหาในอดีต เพื่อกำหนดให้ประเทศเดินหน้าสู่อนาคตออกจากวงจรรัฐประหาร กำหนดให้เป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในนิติรัฐ เคารพสิทธิมนุษยชน