ไม่พบผลการค้นหา
นักรัฐศาสตร์มองว่า ประชานิยมเปรียบเหมือนยาพิษสำหรับหลักการประชาธิปไตยของโลกเสรีทั่วโลก เพราะประชานิยมพึ่งพาคนเพียงกลุ่มเดียว โดยไม่สนใจองค์กรตรวจสอบถ่วงดุล

นายฟรานซิส ฟุกุยะมะ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและนายโรเบิร์ต มักกาห์ ผู้อำนวยการการวิจัยของสถาบันอิการาเปเขียนบทความลงในเว็บไซต์ของ World Economic Forum ว่า ประชานิยมเปรียบเหมือนยาพิษสำหรับหลักการประชาธิปไตยของโลกเสรีทั่วโลก โดยระบุว่า นักประชานิยมไม่ว่าจะอยู่ในอเมริกา ยุโรป หรือเอเชียก็มักมีลักษณะคล้ายกันคือ มักโจมตีผู้อพยพและชนชั้นนำ และเหล่าประชานิยมก็จะเป็นประชาชน 'ที่แท้จริง' ที่จะมาทวงคืนประเทศจากคนต่างชาติ สำนักข่าวต่างๆ มักถูกโจมตีว่าบิดเบือนความจริงหรือกุข่าวปลอมขึ้นมา จากนั้นก็จะโจมตีกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร

นักรัฐศาสตร์ทั้งสองคนอธิบายว่า นักประชานิยมจะมีลักษณะ 3 ประการที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นที่นิยม แต่มีนโยบายที่ไม่ยั่งยืน การกำหนดให้ประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพลเมือง 'อย่างถูกต้อง' ของประเทศเท่านั้น และมักมองว่าความเป็นผู้นำขึ้นอยู่กับสไตล์การเข้าถึงประชาชนโดยตรง

คนจำนวนมากเริ่มเห็นพ้องกันว่า ประชานิยมเป็นภัยคุกคามเสรีนิยมประชาธิปไตยและหลักการประชาธิปไตยของโลกเสรี ซึ่งตั้งอยู่บนระบบการแบ่งแยกอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ และสื่อมวลชน ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และเนื่องจากสถาบันเหล่านี้มักขัดขวางการปกครองตามอำเภอใจของนักประชานิยม ทำให้ถูกฝ่ายประชานิยมโจมตี โดยเฉพาะประชานิยมขวาจัดในสหรัฐฯ และยุโรป

ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคของนโยบายประชานิยมและมักถูกโจมตีเช่นกันก็คือ สหประชาชาติ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) องค์การการค้าโลก (WTO) สหภาพยุโรป และข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่จะส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการลงทุนข้ามประเทศ

ปัจจัยที่ทำให้ประชานิยมแพร่หลาย ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สถานะของชนชั้นกลางในโลกตะวันตกที่แย่ลงเรื่อยๆ และความร่ำรวยอยู่ในมือของคนชั้นนำเท่านั้น ส่วนปัจจัยด้านการเมืองมาจากความอ่อนแอของประชาธิปไตยเอง ซึ่งต้องพึ่งพาองค์กรและสถาบันมากมาย ขณะที่ปัจจัยด้านวัฒนธรรมมาจากความรู้สึกว่า ต่างชาติกำลังเข้ามายึดครองประเทศของตัวเอง จึงทำให้เรื่องผู้อพยพเป็นจุดขายของประชานิยม

อนาคตของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยของโลกจะขึ้นอยู่กับทิศทางประชานิยมในสหรัฐฯ เนื่องจาก 70 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบโลก หากสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนประชานิยม ระเบียบโลกก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งก็มีสัญญาณออกมาอยู่ว่า ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของสหรัฐฯ พยายามสู้กับฝ่ายบริหารของนายโดลนัด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรครีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในปีนี้ได้ และนายทรัมป์อาจชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้น

นักรัฐศาสตร์ทั้งสองมองว่า หากพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในปี 2018 และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยหน้าได้ นายทรัมป์ก็จะกลายเป็นผู้นำที่เข้ามาดำรงตำแหน่งจากความผิดพลาด แต่หากนายทรัมป์ชนะอีกสมัยในปี 2020 การเมืองสหรัฐฯ จะแบ่งเป็นสองขั้วมากขึ้น ฝ่ายเสรีนิยมก็จะเริ่มเกรี้ยวกราดขึ้น และระเบียบโลกก็จะเป็นไปในทิศทางนี้ จากฟากตะวันตกลามมาตะวันออก ซึ่งจะอันตราย

นอกจากนี้ หากฝ่ายประชานิยมหลายประเทศจับมือกัน เช่น สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ และเซอร์เบีย อาจทำให้ฝ่ายประชานิยมแข็งแกร่งจนคุกคามองค์กรอย่างสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และนาโตด้วย