ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจวิจารณ์ว่า GDP ไม่สามารถเป็นเครื่องชี้วัดสภาพเศรษฐกิจของโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป แต่ควรใช้ IWI ที่นำทุนธรรมชาติและและทุนมนุษย์เข้ามาคำนวณด้วย

การเฝ้าตรวจสอบความก้าวหน้าของสังคมและนโยบายในการรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นเรื่องสำคัญ และการใช้มาตรวัดที่แม่นยำในการตรวจสอบสภาพเศรษฐกิจ ความยั่งยืน และความสามัคคีของสังคมจะทำให้มีการปรับแก้แผนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เว็บไซต์ World Economic Forum ลงบทความอธิบายว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไม่สามารถเป็นเครื่องชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แม่นยำอีกต่อไป

จีดีพีเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 20 แต่ไม่เหมาะสำหรับเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 อีกต่อไปแล้ว เนื่องจาก GDP เป็นการคำนวณผลจากการบริโภค การลงทุน รายจ่ายรัฐบาล การส่งออกและการนำเข้า แต่จีดีพีไม่สามารถคำนวณคุณภาพชีวิตของประชาชนได้

ไซมอน คัซเน็ตส์ ผู้คิดค้น GDP เคยเตือนไว้ตั้งแต่ร้อยปีก่อนว่า จีดีพีจะเป็นประโยชน์กับการติดตามรายได้ของประเทศเท่านั้น ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจึงเริ่มหันมามองหาเครื่องมือที่จะชี้วัดทั้งเรื่องการเงิน สินค้าทุน ทุนมนุษย์ (ทักษะแรงงาน) ทุนสังคม (การมีส่วนร่วมของสังคม) และทุนธรรมชาติ (คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม)

เว็บไซต์ WEF กล่าวถึงดัชนีวัดความมั่งคั่งที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หรือ IWI ผลักดันโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ว่าเป็นการคำนวณทุนธรรมชาติ สินค้าทุน ทุนมนุษย์ และทุนทางสังคมของ 140 ประเทศ ซึ่ง IWI จะชี้ให้เห็นว่าการเติบโตความมั่งคั่งโลกต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP

ข้อมูลระบุว่า ทุนธรรมชาติของ 140 ประเทศลดลงตั้งแต่ช่วงปี 1992 - 2014 โดยหลายประเทศที่ GDP โตอย่างรวดเร็ว กลับสูญเสียทุนธรรมชาติไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน และการมองว่า 'รายได้' คือ 'ความมั่งคั่ง' ถือเป็นแผนเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และอันตรายต่อความยั่งยืน

รายงานดัชนี IWI ยังเสนอข้อชี้แนะที่หนักแน่นสำหรับการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนโลก รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ การเฝ้าติดตามผลิตภาพของประเทศอย่างใกล้ชิดถือเป็นกุญแจสำคัญ เมื่อสินทรัพย์ลดลงก็สามารถตีความได้ได้ถึงแนวโน้มความไม่ยั่งยืน

สินทรัพย์ที่สำคัญต่อผลิตภาพมักจะไม่มีราคาหรือมีการตั้งราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะสินทรัพย์ในส่วนทุนธรรมชาติและและทุนมนุษย์ เช่น ทุนธรรมชาติอย่างป่าไม้ แหล่งน้ำ มักไม่ถูกนำมาคิดใน GDP แต่จะถูกตีราคาเฉพาะสินค้าที่ออกมาขายในตลาด เช่น ไม้ซุงและปลา แต่ระบบนิเวศเหล่านี้ยังเกี่ยวข้องกับบริการอื่นเช่น การกรองน้ำ การควบคุมน้ำ และยังเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์ ซึ่งล้วนเป็นบริการที่มีค่า

ดัชนี IWI ยังช่วยให้ผู้คิดนโยบายเตรียมต่อรองนโยบายเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดสรรงบประมาณสำหรับการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น รายงาน IWI ยังแสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศจะมีเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจผลกระทบของอัตราการเติบโตของประชากรต่อผลิตภาพของประเทศ ดังนั้น ผู้นำประเทศจะต้องพิจารณานโยบายโดยคำนึงถึงความเจริญทางการเงิน ธรรมชาติ มนุษย์ และสังคมให้เป็นเรื่องเดยวกัน

แคนาดาเริ่มนำเรื่องความยั่งยืนเข้ามาพิจารณาความมั่งคั่งของประเทศแล้ว โดยโครงการความมั่งคั่งครอบคลุมของแคนาดาได้เพิ่มการประเมินมูลค่าและการสร้างนโยบายเข้าไปนอกเหนือจาก GDP ซึ่งรายงานล่าสุดแสดงให้เห็นสัญญาณเตือนสำคัญว่า อัตราการเติบโตของความมั่งคั่งครอบคลุมแคนาดาตั้งแต่ปี 1980 - 2015 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น แตกต่างจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP แคนาดาที่ร้อยละ 1.31 ในช่วงเวลาเดียวกัน หมายความว่า GDP ที่เติบโตอย่างมั่นคงของแคนาดาไม่ได้สะท้อนการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งด้านศักยภาพรายได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน การกระจายความเสี่ยงทางการเงิน และสินค้าทุน

ประชาชนสมควรได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำว่าเศรษฐกิจของประเทศตัวเองเป็นอย่างไร ในมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง GDP เป็นเพียงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในศตวรรษที่ 21 ทั่วโลกต้องการใช้ตัวชี้วัดที่ทันสมัยขึ้น เพื่อให้ความรู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ที่มา : World Economic Forum

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: