ก่อนจะถึงวันเปิดตัวนโยบายแห่งอนาคตของพรรคอนาคตใหม่ รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนา วิทยาลัยเฉพาะด้านนโยบายสาธารณะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็น ‘มันสมอง’ เบื้องหลังจากทีมกลั่นกรองนโยบาย ฉายภาพให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’ พร้อมถอดบทเรียนผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับตัวแบบในต่างแดน
อาจารย์ต้น ผู้สนใจ “โมเดลเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออก” เท้าความกลับไปว่า ในเอเชียลู่วิ่งการพัฒนาเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2500 ผ่านมาพักหนึ่ง เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออกวิ่งพร้อมๆกับไทย แต่ 20 ปี สิงคโปร์รวยแล้ว 30 ปี เกาหลีใต้ กับไต้หวัน รวยแล้ว ของไทยก็ยังอยู่ใกล้กับมาเลเซียเหมือนเดิม เวียดนามกำลังจะแซงด้วยซ้ำ
นี่เป็นตัวอย่างที่ดูได้จาก ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ว่า เขาพัฒนาอย่างไร ซึ่งก็คนละโมเดล ข้อดีของประเทศที่มาที่หลังแล้วอยากเรียนรู้บทเรียนจากประเทศอื่นๆ ก็คือการถอดบทเรียนทั้งดีและร้าย อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
เกาหลีใต้ จะใช้บริษัทใหญ่อย่าง “แชโบล” หรือ “ซัมซุง” เป็นหัวหอกนำ ใหญ่โตมโหฬารคิดเป็นสัดส่วนใหญ่มากทางเศรษฐกิจ ปรากฎว่า ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ก็ควรเรียนรู้ว่า ถ้าอยากพัฒนาเศรษฐกิจโดยเอื้อทุกอย่างให้กับทุนใหญ่ ตัวเลขจีดีพี ทุกอย่างอาจจะโตขึ้นจริง แต่สุดท้ายความเหลื่อมล้ำมันเพิ่ม
ไต้หวัน ไม่มีบริษัทที่ยิ่งใหญ่เหมือน ซัมซุง ฮุนได แต่ทศวรรษที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์ที่แบรนด์อเมริกัน แข่งกับที่อื่นๆ ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ข้างในทำจากไต้หวันหมดเลย นี่คืออีกโมเดลหนึ่ง ที่ไม่ได้สร้างยักษ์ใหญ่ แบรนด์ใหญ่ แต่สร้างเอสเอ็มอีให้เป็นระดับโลก ก็พบว่า ความเหลื่อมล้ำรักษาระดับได้ดีกว่าเกาหลีใต้เยอะ
ย้อนกลับมามองประเทศไทย ภายใต้รัฐบาล คสช.ตลอด 4 ปี ที่จีดีพีโตขึ้น กลุ่มทุนใหญ่เฟื่องฟู ทว่าคนกลับรู้สึกไม่มีสตางค์ รศ.ดร.วีระยุทธ์ ให้คำจำกัดความสภาวะนี้ ว่า
“นี่คือภูเขาของความเหลื่อมล้ำ เหมือนฝนตกแล้วติดอยู่แต่ข้างบนไม่ลงข้างล่าง”
พร้อมให้ความเห็นต่อ โครงการเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก-อีอีซี “เมกะโปรเจกต์” ที่ทีมเศรษฐกิจ คสช. หมายมั่นปั้นมือด้วยว่า อีอีซี คือ โมเดลเดิม พื้นที่เว้นภาษี อาจมีการเชื่อมต่อพื้นที่ด้วยรถไฟ แต่รากฐานเดิมคือ ดึงเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วเราเป็นฐานการผลิตแล้วจบ แน่นอนตัวเลขส่งออกจะเพิ่มขึ้นแน่นอนถ้าทำสำเร็จ แต่สิ่งที่ลืมไปคือ มูลค่าเพิ่ม ที่จะตกอยู่กับคน
“ประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นเพียงฐานการผลิต ไทยก็จะมีโรงงานเครื่องประกอบ ตามแบบที่ถูกออกแบบมาจากญี่ปุ่น ก่อนส่งไปขายอเมริกา ส่งออกได้ 120 แต่ที่จริงนำเข้ามา 100 ตกอยู่ที่ไทยแค่ 20 นี่คือโมเดลเดิมเป็นฐานการผลิตให้ต่างชาติมาลงทุน แค่นี้จึงไม่พอต่อการพ้นกับดักรายได้ปานกลางที่ดูตามจีดีพี กันต่อหัว อย่าง จ.ระยอง จีดีพี โตมาก แต่รายได้ตกกับคนระยองหรือคนอื่นที่มาทำงานหรือไม่”
“ไทย 2 เท่า” จึงมีอีกมิติที่อยากส่งเสริมคือ เปลี่ยนตัวชี้วัดจากจีดีพี เป็น ตั้งเกณฑ์ให้มีความหมายแต่ละพื้นที่ ทำอะไรก็ได้แล้วได้ผลเป็น 2 เท่า เช่น มูลค่าเพิ่มในพื้นที่ ก็ตั้งเป้าขอมูลค่าเพิ่ม 2 เท่า ตกอยู่ในประเทศไทย ภายใน 5 ปี 10 ปี ก็ว่ากันไป นี่เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ซึ่งตกกับคนในพื้นที่จริง หรือ ลูกของผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่จังหวัดนี้ สามารถเข้าเรียนได้ในระดับมัธยม เพิ่มขึ้น 2 เท่า ในเวลา 5 ปี
“มันมีความหมายมากกว่าจีดีพี มิเช่นนั้นมันก็จะเหมือนอย่างที่นักข่าวไปถามพ่อค้าแม่ค้าในตลาดถึงจีดีพี ที่โต 4 เปอร์เซนต์ แต่ทำไมรายได้ลดลง ความเหลื่อมล้ำที่มาถึงจุดนี้ ความหมายของจีดีพีมันลดลงไปเยอะ เรื่องพวกนี้มันจับต้องได้จริง คนรู้สึกและสัมผัสได้รายวัน”
สำหรับคำว่า “รัฐสวัสดิการ”ของพรรคอนาคตใหม่ ที่สื่อ “หัวเขียว” ขวัญใจรากหญ้าจับประเด็นนั้น รศ.ดร.วีรยุทธ์ อธิบายว่า จะอยู่ในขา “เท่าเทียมกัน” เป็นหลัก แต่ผมให้ความเห็นว่า ควรทำให้พร้อมกับขา“เท่าทันโลก”ไปพร้อมกันด้วย เพราะรัฐสวัสดิการมีหลายโมเดลมาก อย่างในอังกฤษ ก็จะไม่เหมือนกับในสวีเดน ขึ้นกับคุณให้ค่าเรื่องไหน สัดส่วนเท่าไร
เรื่องที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสแกนดิเนเวีย คือ “โปรแกรมเปลี่ยนอาชีพคน” ซึ่งเป็นรากฐานหนึ่งของ “รัฐสวัสดิการ” ที่ไม่ได้ให้เงินโต้งๆ เช่น ชายคนหนึ่งทำงานในตลาดอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มา 20 ปี ตอนอายุ 40 ปี บริษัทถูกปิด ก็จะมีโปรแกรมฝึกฝนให้คนพัฒนาทักษะ แล้วย้ายไป Sector อื่น ผ่านการฝึกฝน 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ความถนัด อยากย้ายไปอุตสาหกรรมใด
นี่คือกลไกหนึ่งที่มองไม่เห็น คนยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ใน “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งมันทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนที่ต่อไปได้ ภายใต้อุตสหกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปแข่งกับโลก ไม่ใช่แค่ให้อุดหนุนอย่างเดียว ซึ่งก็ยังมีแต่ไปพร้อมกัน ขาของคำว่า “เท่าทันโลก” จึงต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วย นี่เป็นบทเรียนที่มากกว่าตัวเงินเยอะ เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป
ส่วนไทยยังไม่มีข้อสรุปว่าของประเทศไทยควรเป็นแบบโมเดลไหน ทีมงานของพรรคอนาคตใหม่พยายามดูตัวเลขแล้วหาข้อสรุปอยู่ เพราะการคิดจะต้องเป็นขั้นบันได เป็นจังหวะก้าว 5 ปี 10 ปี ไม่ใช่โป้งเดียว อย่างในตะวันตกสู้กัน 40-50 ปี ในเอเชียนี่เร็วขึ้นมาหน่อย แต่ทุกที่ก็ค่อยๆมีพัฒนาการไปทีละขั้น
แต่โดยพื้นฐานของไทยที่มีอยู่ก็ไม่ถือว่าแย่ อย่างน้อยก็ถือเป็น “ฉันทามติ” อย่างหนึ่งของสังคมไปแล้ว ทีดีอาร์ไอก็สนับสนุน มีโมเดลให้เลือก จะเอาระดับความเข้มข้นแค่ไหน ครอบคลุมกี่มิติ พร้อมคำแนะนำขยายวง
สุดท้าย รศ.ดร.วีระยุทธ ก็สรุปแก่นคิดการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพื่อปลายทางในการก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลางว่า ก็ควรถอดบทเรียนว่า
"การมุ่งแต่จีดีพีหนุนแต่ทุนใหญ่นั้น สุดท้ายความเหลื่อมล้ำมาแน่นอน นี่คือตัวอย่างที่เห็นชัด แต่จะเรียนรู้กันหรือไม่"
ส่วน “เท่าทันโลก” ควรถอดบทเรียนจากข้อดีข้อเสียแต่ละประเทศ ไม่ใช่การฝันแต่ว่า เราอยากเป็นใคร ไม่มีประเทศไหนที่สมบูรณ์แบบ และเราควรถอดบทเรียนตัวเองเช่นกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกด้านการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนาที่มหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านนโยบายสาธารณะ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น