ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการนำร่องสำรวจ 'ถนนอโศกมนตรี' พบความปลอดภัยอยู่ในระดับดาวเดียว เตรียมขยายพื้นที่ศึกษาเพิ่มเติม ตั้งเป้าภายในปี 2573 ถนนสายใหม่ทุกสายต้องผ่านมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับผู้ใช้ถนนในประเทศไทย

รศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่งและจราจร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากได้รับการประสานงานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ ให้เป็น 1 ใน 10 เมือง ที่เข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกเป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือสำรวจความปลอดภัยทางถนน ตามวิธีมาตรฐาน ของ iRAP ซึ่งเป็นองค์กรเริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีความตั้งใจลดความสูญเสียทางถนนเป็นหลัก และมีภารกิจตรวจสอบถนนเสี่ยงไม่ปลอดภัย มีองค์ประกอบและ เกณฑ์มาตรฐานที่ช่วยและบอกว่า ถนนเส้นใดมีความเสี่ยงสูง-ต่ำ ประเทศที่มีการนำ iRAP มาใช้แล้วกว่า 90 ประเทศ เป็นระยะทาง 1 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้หลักเกณฑ์การชี้วัดมีมากถึง 50 ข้อ

S__2785284.jpg

รศ.ดร.เกษม กล่าวว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนนแบบติดดาว ตั้งแต่หนึ่งถึงห้าดาว โดยหนึ่งดาว เป็นถนนที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนห้าดาว เป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูง ทั้งนี้ สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศว่าหากประเทศใดได้รับรองเรื่องความปลอดภัยแล้วตั้งเป้าหมายใน พ.ศ. 2573  ถนนที่มีการสร้างใหม่ทุกประเทศต้องอยู่ระดับ 3 ดาวเป็นอย่างน้อย ก่อนจะไปถึง 4-5 ดาว ซึ่งการเดินทางทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศร้อยละ 75 ต้องมีการเดินบนถนนที่มีความปลอดภัยตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป จึงต้องมีแผน มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน แต่ละประเทศจึงใช้ข้อกำหนดของ UN มาเป็นกรอบการวางยุทธศาสตร์

“ปัญหาอุบัติเหตุเราทราบกันอยู่แล้ว ว่าในแต่ละวันมีผู้ประสบอุบัติเหตุถึง 3,500 คน เท่ากับเครื่องบินขนาดโบอิ้งตกวันละ 10 ลำ ซึ่งเราจะทำอย่างไรจะช่วยลดเจ็บตาย” รศ.ดร.เกษม กล่าว 

รศ.ดร.เกษม กล่าวว่า ถนนอโศกมนตรี เป็นหนึ่งในเส้นทางนำร่องที่ได้สำรวจเก็บข้อมูลมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ประเมินตามมิติต่างๆ เช่น มุมมองคนขับรถยนต์ คนขี่รถจักรยานยนต์ คนขี่รถจักรยาน โดยเป็นถนนที่มีผู้ใช้มาก ทั้งบนทางเท้าและบนถนน ก่อนหน้านี้มาตรวจสอบพบว่ามีหลายจุดที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครปรับปรุงในจุดเสี่ยง เช่น ทำรั้วกั้นในจุดยืนรอข้ามทางม้าลาย เพื่อไม่ให้รถวิ่งเข้ามาเฉียดผู้ที่ยืนรอข้ามถนน, ขยายแนวทางม้าลายจากเดิม 6 เมตร เป็น 9 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างให้มากขึ้น ให้ผู้ขับขี่รถสังเกตเห็นได้ง่าย, การตีเส้นหยักบนถนน เพื่อให้ผู้ขี่รถชะลอความเร็ว, การติดตั้งเสาเหล็กบนทางเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นมาขี่บนทางเท้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงแล้ว พบว่าถนนเส้นดังกล่าวยังได้คะแนนอยู่ที่ระดับหนึ่งดาวเท่านั้น เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงยังไม่ผ่าน

S__2785285.jpg

รศ.ดร.เกษม กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาเส้นทางเพิ่มเติมในอีก 6 เขตที่มีความเสี่ยงสูงของ กทม. ประกอบด้วย ลาดกระบัง บางขุนเทียน หนองจอก มีนบุรี ตลิ่งชัน และประเวศ ทั้งนี้คาดหวังว่าการสำรวจจะนำไปสู่การแก้ไขจุดเสี่ยงและช่วยลดอุบัติเหตุในอนาคต ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ว่าด้วยเรื่อง “ก้าวหน้าสู่โลกที่ปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและความรุนแรงอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: