29 ม.ค. 2567 ที่แยกราชประสงค์ เวลา 15.00 น. นักกิจกรรมกลุ่มกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย(DRG) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ (Freedom of Kasetsart Group) ทะลุแก๊ซ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ประมาณ 20 คน นัดหมายทำกิจกรรมรณรงค์ เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน
โดยการรณรงค์นี้เริ่มต้นที่แยกราชประสงค์ จากนั้นเป็นการเดินเท้าไปยังหน้าโรงพยาบาลตำรวจแห่งชาติ และหยุดชูป้ายรณรงค์บริเวณด้านหน้า รพ. ประมาณ 10 นาทีก่อนจะเดินทางต่อไปยังด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้บริเวณด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำการอยู่ประมาณ 12 นาย ทางกลุ่มได้หยุดชูป้ายที่บริเวณดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 นาที
ต่อมาทางกลุ่มได้เดินรณรงค์ต่อไปยังย่านสยาม และหยุดสื่อสารกับประชาชนในจุดต่างๆ ทั้งนี้ระหว่างทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาแจ้งให้ทางกลุ่มให้ยุติการทำกิจกรรม เนื่องจากมีลักษณะเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่พบว่าว่ามีผู้แจ้งการชุมนุมไว้ล่วงหน้า 24 ชม.อย่างไรก็ตามทางกลุ่มยังคงทำกิจกรรมต่อไป จากนั้นทางกลุ่มได้เดินทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS ไปยังสถานหมอชิต เพื่อสื่อสารเชิญชวนประชาชนที่โดยสารมาในขบวน
กรกฏ แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เปิดเผยว่า การทำกิจกรรมในวันนี้ต้องการกระตุกเตือนให้สังคมตระหนักว่าเวลานี้ยังมีนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำหลายราย และมีอีกหลายคนที่กำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 และที่ผ่านมามีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับ ’ยกเว้นความผิด’ มาโดยตลอด
เขาย้ำว่า การรณรงค์นี้ต้องการให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงรายชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อผลักดันเข้าไปในรัฐสภา เพื่อให้เกิดพื้นที่ของการแก้ปัญหาตามกระบวนการประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ทั้งคาดหวังว่าร่างกฎหมายนี้จะได้การสนับสนุนทั้งจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
ส่วนกรณีที่หยุดรณรงค์บริเวณด้านหน้า รพ.ตำรวจนั้น เพราะเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคุมตัวอยู่บนชั้น 14 เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหาร อีกทั้งยังเป็นผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณา จึงต้องการเชิญชวนให้ทักษิณ ช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับประชาชนด้วย
ทั้งนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน มีเนื้อหาที่ระบุชัดว่าให้กลุ่มคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันที ประกอบด้วย 1.คดีความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. 2.คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 3.คดีตามฐานความผิด ป.อาญา มาตรา 112 4.คดีตามฐานความผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 2548 5.คดีตามฐานความผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และ 6.คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อ 1-6 โดยครอบคลุมการกระทำตั้งแต่ช่วง 19 ก.ย. 2549 ถึงขณะที่กฎหมายบังคับใช้
ส่วนคดีที่ต้องผ่านการพิจารณาก่อนจึงจะมีการนิรโทษกรรม ได้วางหลักการว่า ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมือง หรือไม่ได้ร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่การกระทำนั้น มีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยวิธีการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดๆ เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตนเอง การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุมประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลอื่น
โดยให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน จำนวน 20 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 14 คน ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 คน องค์กรภาคประชาชนทำงานด้านค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรมรวม 2 คน