ไม่พบผลการค้นหา
ชุดพญาเสือและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานเข้าพื้นที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ทติดประกาศคำสั่งให้รื้อถอนตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ภายใน 30 วัน ในข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน 50 ไร่

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุบลราชธานี) และที่ปรึกษาหน่วยพญาเสือ, เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชลงพื้นที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท ม.6 ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ในหลายรีสอร์ทที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลานถึง 2 ครั้ง คือ วันที่ 9 พ.ค. 2555, 31 มี.ค. 2560 รวมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่

และวันนี้ (26ก.ค. 2562) เป็นการเข้าติดประกาศคำสั่งให้รื้อถอนตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หลังยกเลิกคำสั่ง คสช.64/2557 และ 66/2557 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติซึ่ง 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท เป็นรีสอร์ทจากบัญชีดำเนินคดีผู้บุกรุกป่าติดประกาศคำสั่งรื้อถอน 11 แห่งในระยะเวลา 3 เดือนแรก โดยให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เองภายในเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ติดประกาศตามกระบวนการทางกฎหมายในการดำเนินคดี หากพ้นกำหนดออกไปเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการทันที

สำหรับรีสอร์ทดังกล่าวบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจริง และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่สปก. แต่อย่างใด แต่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทั้งแปลง และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน โดยกรมป่าไม้ไม่เคยมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปและพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนตเขตที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 ซึ่งมีการทำพิกัดแผนที่และหลักฐานภาพถ่ายต่างๆ ชัดเจน

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ติดป้ายประกาศรื้อถอนตาม มาตรา22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ที่ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นการเข้าไปติดป้ายประกาศตามขั้นตอนการปฏิบัติ ไม่มีการปะทะหรือเผชิญหน้ากับฝ่ายใด ซึ่งหลังการติดป้ายผู้ประกอบการสามารถร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอการคุ้มครองชั่วคราว ส่วนที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าอัยการได้พิจารณาแล้วว่าผู้ประกอบการรีสอร์ทดังกล่าว อาจไม่มีเจตนาครอบครอง แต่การพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินการต่อไป ยืนยันการดำเนินตามขั้นตอนทางตัวกฎหมายเป็นหลัก และส่งเรื่องให้ศาลดำเนินการตัดสิน รวมถึงการให้บริการลูกค้าชั่วคราว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง