วันที่ 15 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ วาระพิจารณารายละเอียดของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
ณัฐพงษ์ เผยว่า ในการนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียนเชิญ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาชี้แจงในประเด็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากกรรมาธิการมีความเป็นห่วงในหลายประเด็น เพราะนโยบายดังกล่าวมีทั้งผู้คัดค้านและเห็นด้วย ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.การกู้เงิน และหลักเกณฑ์การแจกจ่ายเงิน รวมถึงกรอบเวลาที่ต้องมีการอธิบายและสื่อสารไปยังประชาชน โดยคณะกรรมาธิการฯ จะได้สอบถามประเด็นเหล่านี้ ให้นโยบายนี้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ส่วนกรณีมีผู้ร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระ เรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า กรณีนั้นถือเป็นประเด็นหลัก ที่ทางคณะกรรมาธิการฯ ต้องสอบถาม ว่าเหตุใดต้องออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ และไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือแหล่งเงินอื่นๆ เช่น เงินในงบประมาณ หรือตามมาตรา 28
ขณะที่ข้อสังเกตของฝ่ายค้านว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย และอาจเป็นการหาทางลงของรัฐบาลหรือไม่ ณัฐพงษ์ ระบุว่า น่าจะมีการสอบถามเรื่องนี้ แต่เชื่อว่ากว่ารัฐบาลจะออกโครงการนี้ออกมาได้ ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์และแหล่งเงิน ต้องผ่านการพิจารณาข้อกฎหมายมาอย่างดีแล้ว และผ่านการพิจารณาตัวเลือกต่างๆ
ณัฐพงษ์ ยังมองว่า การกู้เงินสามารถทำได้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังบอกชัดเจนแล้วว่า หากเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือต้องการรักษาเสถียรภาพของการเงิน ก็สามารถกู้เงินได้ ทั้งนี้ ก็จะเป็นอีกคำถามของกรรมาธิการว่าความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ สามารถออกเป็น พ.ร.ก.แทนได้หรือไม่
ณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะจากที่รับทราบจากรัฐบาลและสื่อมวลชน ตอนนี้ GDP ของประเทศลดต่ำลง ไตรมาสแรก 2.6% ไตรมาส 2 เหลือ 1.8% ไตรมาส 3 คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 1.4% ไม่มีการเติบโต ตามที่หลายคนตั้งคำถามไว้ ว่าจะเติบโตประมาณ 2.6% จึงมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิน 2%
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ อีกไม่นานประมาณ 2-3 ปี ผู้ที่หารายได้เข้าประเทศก็จะน้อยกว่าผู้สูงอายุ จะเป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจ ถึงบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้และทำให้เติบโตทันเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ
"ตอนนี้ออกงบประมาณขาดดุลทุกปีๆ 6-7 แสนล้านบาท อีกแค่ 2-3 ปี จะมีปัญหา ตัวผมมองว่า ก็เหมือนเราเห็นปากเหวอยู่ข้างหน้า เราจะรอให้ตกเหวก่อนหรือไม่ ถึงค่อยแก้ไข ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่าเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ"
ณัฐพงษ์ ยืนยันว่า ไม่เป็นการเอื้อฝ่ายรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล ณัฐพงษ์ ระบุว่า ไม่ เพราะกรรมาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ศึกษาหาข้อเท็จจริงโดยเฉพาะเรื่องนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล กรรมาธิการมี สส. จากทุกพรรคการเมืองทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
"เป็นไปไม่ได้ที่จะอวยกัน หน้าที่ของกรรมาธิการฯ เรา แม้ผมจะเป็น สส.พรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่ในการทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการฯ ก็อยากเห็นนโยบายของรัฐบาลสำเร็จ และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ถ้ามีอะไรที่ท้วงติงหรือแนะนำกันได้ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่ต้องท้วงติง"
เมื่อถามว่าจะมีการเรียกฝ่ายที่เห็นต่างมาหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ต้องเชิญฝ่ายที่คัดค้านมาด้วยแน่นอน ต้องรับฟังข้อมูลหลักเกณฑ์ของคนที่ทำนโยบายก่อน แล้วจึงค่อยฟังคนที่คัดค้าน ก่อนจะสรุปเป็นแนวทางให้รัฐบาล
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอความเห็นให้ออกพ.ร.บ.เงินกู้นั้น ณัฐพงษ์ มองว่า ก็สามารถสอบถามเรื่องนี้ได้ และอาจมีการเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาชี้แจงในกรรมาธิการด้วยเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ