ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' คาดรัฐบาลหวังออก พ.ร.บ.เงินกู้เปิดช่ององค์กรอิสระ-กฤษฎีกา ตีตกนโยบายเงินดิจิทัล ซ้ำรอยสมัย 'ยิ่งลักษณ์' เหตุโครงการถึงทางตันแล้ว

วันที่ 9 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงความชัดเจนในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยระบุว่า แม้นายกรัฐมนตรี จะมีการแถลงรายละเอียด และเงื่อนไขของนโยบาย แต่ก็ไม่ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของงบประมาณมากนัก เพราะนายกรัฐมนตรีเลือกเส้นทางที่ยากที่สุดในการออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อระดมเงินมาใช้จ่ายในโครงการ

ศิริกัญญา กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขให้บุคคลที่มีเงินเดือนไม่เดิน 70,000 บาท หรือเงินในบัญชีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท แต่ยังคงเสี่ยงที่บุคคลเหล่านี้ จะไม่ได้รับเงิน เพราะในการออก พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว อาจขัดต่อวินัยการเงินการคลังเพราะการออกเงินกู้จะสามารถทำได้ในเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ในวันนี้ยังไม่ปรากฏความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ จึงมองโดยไม่ได้คาดหวังว่า จะเกิดการยื่นให้องค์กรอิสระตีความ

ทั้งนี้ ศิริกัญญา มองว่า ฝ่ายการเมืองควรแสดงความรับผิดชอบ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการออก พ.ร.บ.การกู้เงินก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรอิสระมาวินิจฉัยตีความ เพราะมีความสุ่มเสี่ยง และเชื่อว่า รัฐบาลรู้ว่าการดำเนินการลักษณะนี้ อาจเข้าข่าย พ.ร.บ.เงินกู้ 2,000,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย สมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกมาในอดีต 

ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลน่าจะเห็นหนทางแล้วว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถเดินไปต่อได้จริง ๆ จึงเตรียมออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อให้เป็นทางลงของโครงการนี้ ที่ไม่ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการหาเสียง จึงทำให้เข้าทางเกิดการตีความ เพื่อเป็นทางออกของโครงการดังกล่าว แต่ความเสี่ยงที่จะถูกองค์กรอิสระตีความนี้ จะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น หากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ ถูกทำแท้งโดยกฤษฎีกา

ศิริกัญญา ยังให้ความเห็นว่า เงื่อนไขต่างๆ ของโครงการเงินดิจิทัลเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้งเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 6 หมื่นบาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 7 หมื่นบาท มาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก