ไม่พบผลการค้นหา
'นิโรธ' โยนสมาชิกสภาฯ ตัดสินใจกฎหมายลูก หาร 100 หรือ 500 เชื่อ 'พปชร.' พร้อมเลือกตั้งเสมอไม่ว่าสูตรไหน

วันที่ 5 ก.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกระแสข่าวว่าพรรคฝ่ายรัฐบาล จะปล่อยให้สมาชิกฟรีโหวตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมือง โดยระบุว่า เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภามอบหมายให้สมาชิกไปทำงาน ผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการฯ

ซึ่งในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯก็มีทั้งเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย จึงต้องอธิบายให้สมาชิกรัฐสภาเข้าใจ ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางใด โดยวิปรัฐบาลไม่ได้มีมติ แต่ให้สมาชิกฟังกรรมาธิการฯ อธิบาย เพราะเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส. 

นิโรธ ยังย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐ พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 หรือ 500 และมั่นใจพรรคจะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน


'คำนูณ' ชี้บัตร 2 ใบต้องสูตรหาร 100

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงสูตรคำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงระหว่างหารด้วย 100 กับ 500 โดยระบุว่า ท้ายที่สุดแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าร่าง พ.ร.ป.ของกรรมาธิการ และทุกร่างที่ส่งเข้ามา กำหนดให้หาร 100 

ส่วนตัวเข้าใจว่า ไม่สามารถตั้งคำถามว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 เพราะนับตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ การคิดคำนวนสัดส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็ให้คำนวนสัดส่วนบัญชีโดยตรง เฉพาะในช่องของบัญชีรายชื่อ ซึ่งตนเชื่อว่าต้องหาร 100 อย่างเดียว 

สำหรับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือหาร 500 คำนูณ เผยว่า ระบบสัดส่วนผสมถูกแก้ไขไปตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว จึงไม่น่าจะนำมาเป็นข้อถกเถียงกันได้ เพียงแต่ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้มีร่างของพรรคประชาธิปัตย์ผ่านเข้ามาแค่ร่างเดียว ซึ่งมีเนื้อหาที่สั้นมาก ก็เกิดการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการว่าไม่อาจจะแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะอาจจะเกินหลักการ จึงทำให้มีคำว่า ส.ส.พึงมี ติดอยู่ในบางมาตรา ซึ่งเป็นส่วนเกินที่ไม่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 

คำนูณ ยังกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขการเลือกตั้งมา มีลักษณะคล้ายกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่มีระบบ ส.ส.พึงมี ซึ่งเพิ่งมีใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านมา ส.ส.บัญชีรายชื่อของไทยก็ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการด้วย ส่วนเสียงโหวตหาร 500 ในชั้นกรรมาธิการจะสะท้อนไปยังเสียง ส.ว.หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะ ส.ว. แต่ละคนก็มีความคิดเห็นเฉพาะตน ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องตนมีความคิดเห็นแตกแยกไปทั้ง 2 ทาง