คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา คือความหวังของคนไทยที่รักและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเลือกตั้งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศ รอคอยมานานร่วม 5 ปี
พวกเราตั้งความหวังไว้สูง ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพา “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ยั่งยืนกลับคืนสู่บ้านเมืองของเราได้ หลังการเลือกตั้ง เราคาดหวังจะมีรัฐบาลพลเรือน ผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลก จึงทำให้เราอดทน ยอมอยู่ภายใต้การปกครองที่เราไม่ต้องการมานานเกือบ 5 ปี
บัดนี้การเลือกตั้งที่เรารอคอย ได้ผ่านพ้นไปกว่า 1 เดือนแล้ว คนไทยทุกคนรับรู้และสัมผัสได้ ว่าความพึงพอใจในสิ่งที่เราอดทนรอคอยด้วยความหวังนั้น เราได้ความสุขคืนกลับมามากน้อยแค่ไหน..?
พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่ตัดสินใจกระทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ สถาปนา คสช.ขึ้นมาเป็นองค์กรหลัก แต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กำกับดูแลประเทศชาติให้เดินมาในทิศทางนี้ ได้เคยทบทวนในสิ่งที่ตัวเองกระทำ และประเมินหรือไม่ว่า ประชาชนไทยได้รับความสุขกลับคืนตามที่ คสช.เคยสัญญาไว้ คุ้มค่ากับที่รอคอยมา 5 ปีหรือไม่?
การคืนความสุขให้กับคนไทย หัวหน้า คสช.ควรกระทำอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีร่องรอยของเจตนารมณ์อื่นแอบแฝงให้ผิดสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อครหาในเรื่อง “การสืบทอดอำนาจ”
หากพลเอกประยุทธ์ ไม่นำตัวเองลงมาเป็นคู่แข่งขัน หรือเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และดำรงตนในสถานะคนกลางที่ยอมเสียสละ มีความจริงใจในการคืนประชาธิปไตย มีความเป็นกลางที่เที่ยงธรรมโดยไม่ยอมให้มี Conflict of Interest เกิดขึ้น ย่อมจะทำให้เงื่อนไขความไม่เข้าใจ รวมถึงข้อสงสัยในความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ลดลงไปได้มาก
คงไม่มีการแข่งขันแบบ Fair Game ใดๆในโลก ที่การแข่งขันผ่านพ้นไปเดือนกว่าแล้ว รู้คะแนนกันหมดแล้ว แต่ก็ยังสรุปวิธีนับคะแนนไม่ได้ ทั้งคู่แข่งขัน-กองเชียร์-คนดู หรือแม้กระทั่งกรรมการตัดสิน ทุกฝ่ายล้วนมีความงง และสับสนในกติกาที่เขียนไว้อย่างสลับซับซ้อนด้วยกันทั้งสิ้น
โชคดีที่ในความสลับซับซ้อน ยังมีนักวิชาการและพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ตีโจทย์วิธีการคำนวณได้แตก และตรงตามตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ “ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” จึงสามารถนำมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะหยิบเอามาใช้หรือไม่?
หากจะเลือกวิธีอื่น ที่จะทำให้ขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไป แต่ก็เสี่ยงกับการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ถือเป็น “ทาง 2 แพร่ง” ด่านสำคัญที่จะพิสูจน์ความ “เป็นกลาง” และจะกำหนดต้นทุนความเชื่อมั่นของสังคม ต่อองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุต่อว่า ด่านความเชื่อมั่นต่อไป ที่จะตามมาคือ ส.ว.250 คน ที่มีหน้าที่อันสำคัญยิ่ง คือการได้สิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย กลับมีกระบวนการคัดเลือกที่เป็นความลับสุดยอด ที่ประชาชนไทยทั้งประเทศรู้แค่เพียง คสช.เป็นผู้เลือกฯ และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคัดเลือก ส่วนคณะกรรมการฯ, กระบวนการคัดสรร, ตัวบุคคลที่เป็นแคนดิเดตและข้อมูลอื่น เป็นความลับที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์รับทราบ
สิ่งที่เรารู้อีกอย่างเกี่ยวกับการเลือก ส.ว.ก็คือ มีการเบิกงบประมาณจากภาษีของประชาชนทุกคน ไปใช้เป็นเงินมากกว่า 1,300 ล้านบาท แต่ประชาชนกลับมีส่วนร่วมแค่เพียงคอยร่วมลุ้นว่า ส.ว.250 คนที่ได้รับการคัดเลือกแบบลับๆมา จะมีสัก 1 คนหรือไม่? ที่จะกล้าแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา..?
ประชาธิปไตยที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ในสายตาของประชาคมโลกได้นั้น ต้องเป็นประชาธิปไตยอันสง่างาม ที่ทำให้ประชาชนไทยและคนชาติอื่นในโลก มีความเชื่อมั่นว่าอำนาจอธิปไตยที่ได้มานั้น มีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
หากกระบวนการต่างๆ ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย การคัดสรร กติกา คณะกรรมการฯ และความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ผิดเพี้ยนไปจากหลักการ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา เท่ากับว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้ดูเหมือนมีการ “คืนความสุข” ให้ประชาชน และการที่ประชาชนออกไปหย่อนบัตรลงคะแนน เปรียบเสมือนการช่วยชุบตัวให้เผด็จการดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
ก่อนให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า เห็นด้วยที่จะเดินหน้าประเทศไทย เห็นด้วยที่ประเทศไทยต้องไปต่อ แต่ขอไปต่อตาม “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยที่ไม่มีโซ่ตรวนแห่งการสืบทอดอำนาจเผด็จการแอบผูกล่ามเอาไว้ คนไทยทนรอคืนความสุขกันมา 5 ปี ขอโอกาสเพียงเท่านี้ พอจะมีสิทธิ์ได้มั้ยคะ..?