ไม่พบผลการค้นหา
‘ชวน’ กังวลสภาล่ม ขอ ส.ส.ทุกคนอย่าย่อท้อ ร่วมรับผิดชอบ แต่ย้ำรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก เผยหารือ ‘วิษณุ’ ช่วยประสาน เปรยสภาฯ สมัยนี้ต่างจากอดีต ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ประธาน-รองประธาน ต้องตามองค์ประชุมกันเอง

วันที่ 8 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีร่างกฏหมายที่มีความจำเป็นและสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เช่น ร่าง พ.ร.บ. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนราธิวาส ราชนครินทร์ เป็นเรื่องด่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมา และรวมกับร่างกฎหมายฉบับอื่นรวมแล้วกว่า 10 ฉบับ หากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายผ่านต้องดูแลเรื่ององค์ประชุม แต่หากองค์ประชุมไม่มีปัญหา เชื่อว่าเวลาที่เหลือของสภา 2 เดือน ยังพอ 

พร้อมมองว่า เหตุสภาล่มนั้นไม่ใช่เกมการเมืองในสภาฯ เพื่อยื้อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตมาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เชื่อว่าปัญหาองค์ประชุมล่มไม่ได้มีเหตุมาจาก ส.ส.โดดประชุม เพื่อลงพื้นที่หาเสียง ขณะที่บางคนก็ไปภารกิจต่างประเทศ แต่สมาชิกบางคนก็ไม่ทราบหายไปไหน ซึ่งมีทุกพรรค 

ทั้งนี้ ชวน ยังยอมรับว่า ตนเองก็ลืมกดบัตรแสดงตนในการประชุมสภาฯ เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) เช่นกัน เพราะยุ่งอยู่กับการชี้แจง และปรากฏว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แสดงตนด้วยวาจาไปแล้ว แต่กลับกดบัตรซ้ำ เป็นเหตุให้องค์ประชุมลดลง จนสภาล่ม อย่างไรก็ตาม ขอให้สมาชิกอย่าย่อท้อ เพราะเวลายังมีอยู่ และในสัปดาห์ต่อๆ ไปขอให้รับผิดชอบมาร่วมประชุม 

ชวน ยังเผยว่าได้หรือกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐบาลที่ดูแลด้านกฎหมาย เพื่อให้ขอเป็นคนกลางประสานพรรครัฐบาลให้มาร่วมประชุมสภาฯ เพราะถือเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่กลไกระบบนี้รัฐบาลเสียงข้างมากต้องคุมเสียงให้พิจารณาไปได้ และเมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องเปิดการประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ชวน มองว่า ก็สามารถทำได้ จะต้องเปิดในช่วงเดือนมีนาคม 2566 แต่ขนาดการประชุมสามัญธรรมดายังยากเลย

ชวน ยังได้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ร่วมเข้าประชุม เพราะเวลาเป็นของมีค่า โดยหวังได้รับความร่วมมือระดับดีกว่าที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างยากที่จะทำให้องค์ประชุมครบ โดยหวังว่าเมื่อแจ้ง วิษณุ ไปแล้ว หวังว่าจะแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อให้เรียกหัวหน้าพรรคทั้งหลายมาหารือ ว่าแต่ละพรรคต้องกำชับลูกพรรค

“สภาปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต ที่นายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นเสียงข้างมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นหลักในการดูแล มีมอบหมาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาดูแล ซึ่งก็ดูแลไม่ทั่วถึง ในสภาฯ ขณะนี้จึงต้องทำหน้าที่กันเอง ประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ต้องหารือกันเองแทนที่จะเป็นฝ่ายบริหารเข้ามาดูแล ก็ทำให้ไม่เหมือนสมัยก่อน”

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 นั้น เวลานี้พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้เสนอมา ซึ่งวาระของการประชุมรัฐสภาตอนนี้จบแล้ว ล่าสุดลงมติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปลดล็อคท้องถิ่น แต่มีอีกฉบับโดยยังอยู่ในขั้นตอนการหากลุ่มสนับสนุน ขณะที่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองและ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีเวลา 5 วัน ก่อนที่จะนำร่างขึ้นสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้