ไม่พบผลการค้นหา
ผลโพลพบประชาชนส่วนใหญ่ มองว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งปีหน้า ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาสำคัญที่ประชาชนเห็นว่าต้องแก้ไขมากที่สุด

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มูลนิธิเพื่อไทย และภาคีภาคประชาชน แถลงข่าวผลโพลต้านโกง โดยเป็นโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง 2562 ระหว่างวันที่ 16 พ.ย.-14 ธ.ค.2561 เพื่อให้พรรคการเมืองนำข้อเสนอของประชาชนจากผลโพล ไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และประกาศพันธสัญญา

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประชาชนร้อยละ 28 เห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองควรตรวจสอบได้ร้อยละ 26 เห็นว่าควรเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ร้อยละ 23 เห็นว่าควรเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงและมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม 

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองควรประกาศนโยบายแบบไหน ประชาชนร้อยละ 42 ระบุว่า เป็นนโยบายที่มีรายละเอียด ขณะที่ร้อยละ 33 เป็นนโยบายที่สามารถตรวจสอบได้จริง อีกร้อยละ 24 เป็นนโยบายกว้างๆ ที่ไม่สามารถระบรายละเอียดได้

ขณะที่ปัญหาสำคัญที่ประชาชนเห็นว่าต้องแก้ไขมากที่สุดใน 3 ลำดับแรก คือ ร้อยละ19 มองว่าคือปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ร้อยละ 17 ปัญหาด้านการศึกษา และ ร้อยละ 16 ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่น่าสนใจคือ เมื่อดูในรายละเอียดตามภาคแล้ว ภาคเหนือจะให้ความสำคัญด้านการศึกษามาเป็นอันดับแรก ต่างจากภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชันมาเป็นลำดับแรก

รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 24 มองว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2562 อย่างมาก ส่วนร้อยละ 25 มองว่ามีผลต่อการตัดสินใจน้อย และ ร้อยละ 30 มีผลต่อการตัดสินใจในระดับปานกลาง ขณะเดียวกันประชาชนถึงร้อยละ 65 เห็นด้วยที่พรรคการเมืองควรมีแนวทางชัดเจนในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ร้อยละ 35 ระบุว่าไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึงปัญหาคอร์รัปชัน 3 ลำดับแรกที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลจัดการนั้น พบว่า ร้อยละ 21 คือปัญหาทุจริตในระบบราชการ ส่วนร้อยละ 17 ปัญหากระบวนการยุติธรรม และ ร้อยละ 13 ปัญหาเงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา 

ผลสำรวจยังพบว่า ปัญหาคอร์รัปชัน 3 ลำดับแรกที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลใหม่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม คือ ร้อยละ 19 ควรเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 16 ควรกำหนดกระบวนการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในหน่วยงานรัฐ และ ร้อยละ 15 ต้องควบคุมจัดการสมาชิกรัฐบาลและสมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

รศ.ดร.เสาวณีย์ ยังเปิดเผยด้วยว่า สำหรับข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติที่พรรคการเมืองควรสนับสนุนให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชัน ประชาชน ร้อยละ 26.6 เห็นว่าควรแสดงข้อมูลการทำงานในทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส มีหน่วยงานกลางตรวจสอบ ส่วนร้อยละ 17.9 หากพบการทุจริตของนักการเมืองในพรรคต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด และ ร้อยละ 10.6 ควรเสริมสร้างจิตสำนึกในการทำงานที่ดีต่อบ้านเมืองและประชาชน

ส่วนความหวังกับนักการเมืองที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้น ประชาชนถึงร้อยละ 70 ระบุว่ามีความหวัง เพราะนักการเมืองรุ่นใหม่เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดและมุมมองใหม่ ขณะที่ ร้อยละ 30 ระบุว่าไม่มีความหวัง เพราะไม่ได้คาดหวังการทำงานของนักการเมือง โดยเชื่อว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชน

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย ม.หอการค้าไทย ระบุว่า ผลสำรวจครั้งนี้มีความเป็นงานวิชาการค่อนข้างสูง มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลประมาณร้อยละ 3 โดยผลสำรวจที่ออกมานี้ เป็นผลมาจากเหตุการณ์สะสมตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ด้านประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หวังว่า จากผลการสำรวจนี้จะทำให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น และลุกขึ้นมาร่วมกันต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ขณะที่นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ระบุว่า จะนำผลโพลนี้ไปมอบให้กับพรรคการเมืองต่างๆ โดยหวังว่าในช่วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งจะได้รับคำตอบจากพรรคการเมือง พร้อมกันนี้จะติดตามทวงถามความคืบหน้าจากพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล