นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลมีแผนจะนำเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย เกือบ 6 แสนล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ตัวเลขที่ชัดเจนของงบประมาณส่วนนี้เหลืออยู่จำนวนเท่าไหร่ ยังต้องไปคุยกันกับสำนักงบประมาณ
ส่วนตัวไม่ทราบว่าตัวเลขจริงๆ เหลือจำนวนเท่าใด แต่เบื้องต้นจะมีการหารือร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อคุยกันให้ชัดเจนว่าหากจะนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เป็นประโยชน์จะใช้ได้อย่างไร หรือในขอบเขตใด โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือตกผนึกก่อน เนื่องจากในหลักการงบฯ ของ อปท. มีไว้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ แต่ในวันนี้ต้องมาดูว่าการใช้จ่ายจะออกมารูปแบบไหนดีในช่วงนี้
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่เหลือเงินเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจนต้องไปดึงเงินจาก อทป.มาใช้ นายอุตตม ระบุว่า ไม่เป็นความจริง ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก็ชัดเจนแล้วว่าใช้งบฯ เท่าไหร่ อย่างไร เพียงแต่เป็นความคิดว่าในแต่ละพื้นที่ก็มีกำลังของเขาอยู่ ดังนั้นวันนี้จึงต้องมาดูกันว่าจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
"ผมขอเคลียเลยนะ ว่าไม่เป็นความจริง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก็ชัดว่าใช้เงินเท่าไหร่ การใช้งบก็ต้องคิดว่าเป็นการใช้เงินของประเทศโดยรวม แต่ไม่ใช่ว่างบกลางขาด หรือ งบประมาณชาติไม่เพียงพอ" นายอุตตม กล่าว
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า งบกลางเหลือจำนวนเท่าใด นายอุตตม ระบุว่า ต้องไปถามความชัดเจนจากสำนักงบประมาณ ซึ่งเท่าที่รับฟังมา ยืนยันว่า มีความเพียงพอ และเป็นไปตามแผน
10 เดือนแรก เบิกจ่ายลงทุน 4.41 แสนล้าน สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.15
นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2562 (1 ต.ค. 61 – 31 ก.ค. 62) งบประมาณรายจ่ายภาพรวม (กรณีไม่รวมงบกลาง) มีการใช้จ่ายแล้ว 2,200,097 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,528,468 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.01 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.34
ทั้งนี้ แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ (กรณีไม่รวมงบกลาง) มีการใช้จ่าย 1,758,391 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 1,975,064 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 89.03 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.36
ขณะที่รายจ่ายลงทุน (กรณีไม่รวมงบกลาง) มีการใช้จ่าย 441,706 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 553,404 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 79.82 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 3.15 สำหรับเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีการใช้จ่าย 297,022 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.10 ของวงเงินงบประมาณ 341,003 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีงบประมาณบางส่วนที่ส่วนราชการต่าง ๆ ต้องเร่งรัดการทำสัญญาและก่อหนี้ให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้ ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะตกไป ดังนั้น ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. 2562 ได้กำชับให้ส่วนราชการที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกผันหรือทำสัญญาเร่งใช้งบประมาณโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อหนี้และเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: