ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ ประกาศจีดีพีไตรมาส 2 เติบโตร้อยละ 2.3 คาดว่าต่ำที่สุดของปีแล้ว ชี้ภาพรวมครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 2.6 ปัจจัยสำคัญมาจากส่งออกติดลบร้อยละ 4.1 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเข้า ครม. 20 ส.ค. นี้ จะพยุงเศรษฐกิจทั้งปีโตร้อยละ 3

นายทศพร ศิริสัมพันธ์​ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)​ กล่าวว่า ด้วยปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ​ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวที่น่าจะต่ำที่สุดของปี และต่ำที่สุดในรอบ 19 ไตรมาส (กว่า 4 ปี) ส่งผลให้ภาพรวม 6 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 2.6

อัตราการขยายตัวดังกล่าวมีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของไทยลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยการเมืองภายในประเทศด้วย   

อย่างไรก็ตาม เลขาฯ สศช. ยังยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็ง แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว

สศช แถลง GDP ไตรมาส2
  • ทศพร ศิริสัมพันธ์

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยแค่เซนิดหน่อย เศรษฐกิจเรายังไม่ถึงขั้นวิกฤต ตามที่ได้แสดงกราฟให้ดูว่า เศรษฐกิจเรายังไม่ถึงขั้นติดลบอย่างที่เคยเกิดขึ้น” นายทศพร กล่าว

นอกจากนี้ สศช. ยังได้ประกาศประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.2 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยคาดหวังสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3-4 จะดีขึ้นจากแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกหลังจากผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. และจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ในวันอังคารที่ 20 ส.ค. นี้ 

ขณะที่การขับเคลื่อนการส่งออกต้องทำให้ครึ่งปีหลังขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 แม้ว่าประมาณการมูลค่าส่งออกทั้งปีติดลบร้อยละ. 1.2 และ 6 เดือนแรกของปีมูลค่าส่งออกติดลบร้อยละ 4.1 ก็ตาม 

เป้าหมายต่อมาคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต้องเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน รายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท พร้อมเน้นการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งต้องการให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และต้องพยายามรักษาความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและการเมือง

“คาดหวังว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะดีขึ้น เมื่อแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจะเข้า ครม.ในวันอังคารนี้” นายทศพร กล่าว

ทั้งนี้ ไตรมาส 2/2562 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2.3 จากเครื่องจักรต่างๆ อาทิ การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.2 การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 การบริโภคภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.1 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 4.2 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 3.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท ดอกเบี้ย การเงิน กนง

ธปท.ห่วงสงครามการค้า-นโยบายการเงินธนาคารกลางต่างประเทศ-การเบิกจ่ายภาครัฐ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2562 ที่สภาพัฒน์ฯ แถลงขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาส 1/2562 ต่ำกว่าประมาณการของ ธปท. ที่เผยแพร่ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2562 ที่ร้อยละ 2.8 โดยเฉพาะภาคต่างประเทศที่หดตัวจากทั้งการส่งออกสินค้าและการส่งออกภาคบริการ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ดี ในการประชุม กนง. รอบที่ผ่านมา กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการอย่างมีนัย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา จากระดับร้อยละ 1.75 ต่อปี เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี

สำหรับระยะต่อไปประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยจะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน 2562 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ความเสี่ยงจากสงครามการค้าฯ แนวโน้มนโยบายการเงินที่ผันผวนของธนาคารกลางทั่วโลก และความต่อเนื่องของการเบิกจ่ายและการดำเนินนโยบายภาครัฐ

รมว.คลังชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้าน ดันจีดีพีได้ร้อยละ 0.55-0.56

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยชัดมากขึ้น และเป็นเรื่องที่เศรษฐกิจไทยภายในประเทศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น ตัวเลขของ สศช. ที่ออกมาในวันนี้ (19 ส.ค.) จึงไม่เกินที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้แล้ว ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก ก็ลดลง ส่วนผลผลิตการเกษตรที่หดตัวในไตรมาสแรก ไตรมาส 2 ขยายตัว แต่ทั้งหมดนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการบริโภคภายในประเทศอ่อนตัวลง

"สิ่งที่เราทำจึงเป็นการประคับประคอง ให้คนในประเทศจับจ่ายใช้สอย ไม่ให้อ่อนตัวเกินไป พร้อมกับคาดหวังว่ ผู้ค้ารายใหญ่ของโลกจะสามารถเจรจากันได้ในท้ายที่สุด และถ้าเหตุการณ์ข้างหน้าคลี่คลาย ก็น่าจะส่งผลดีให้เราก้าวไปข้างหน้าได้"

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลังจึงประเมินว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน จะทำให้มีเงินหมุนในระบบ 3.16 แสนล้านบาท และน่าจะเพียงพอ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อีกร้อยละ 0.55-0.56 โดยหวังผลให้ออกมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยในเดือน ก.ย. นี้ และน่าจะทำให้ทั้งปีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3

ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในมาตรการกระตุ้นครั้งนี้ เป็นงบประมาณปี 2562 จำนวน 20,000 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 20,000 ล้านบาท ส่วนอื่นๆ เช่น เรื่องเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นำมาจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กับอีกส่วนใช้เงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน

"ปีนี้ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจใกล้ชิด และต้องประคองให้อยู่ อย่างให้ตกต่ำเกินไป ซึ่งเราต้องรักษาให้ได้ ให้ไม่หลุดร้อยละ 3 ซึ่งเราต้องทำเต็มที่" นายอุตตม กล่าว

อุตตม มอบนโยบาย คลัง

'อุตตม' ยันมาตรการจ่าย 'พันบาทไปเที่ยว' จะต้องราบรื่น หารือกับก.ท่องเที่ยวฯ ใกล้ชิด

สำหรับมาตรการ 'ชิม ช็อป ใช้' ข้ามจังหวัด ให้ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนรับเงิน 1,000 บาท ใช้เที่ยวในประเทศไทยภายใน 2 เดือน จำนวน 10 ล้านคน นั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า เรื่องท่องเที่ยว จะขอให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น รวมถึงให้ธนาคารกรุงไทย ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อให้ระบบชำระเงินที่มีมีความสะดวก

พร้อมกับย้ำว่า สิ่งสำคัญคือต้องให้คนที่มาใช้เป็นตัวจริงเสียงจริง ใช้จริง ซึ่งมาตรการนี้ น่าจะเริ่มใช้ได้ราวต้นเดือน ก.ย. โดยเหตุไม่สามารถใช้ได้ทันที เพราะต้องการทำให้ระบบต่างๆ ราบรื่น ไม่ให้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านๆ มา

"เราให้มาลงทะเบียน และรอบนี้ไม่ผูกกับแวต (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แถมถ้าใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศครบ 3 หมื่นบาท ก็จะได้เงินคืนอีกร้อยละ 15 ด้วย" นายอุตตม กล่าว

ส่วนเรื่องการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย ที่กระทรวงการต่างประเทศคัดค้านนั้น นายอุตตม ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในที่ประชุม ครม. พรุ่งนี้ (20 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องทุกอย่าง ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อเสนอ ก็พร้อมรับฟังความเห็น

"ถ้าปรึกษากันแล้วคิดว่า ยังไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราก็เสนอและรับฟังความเห็นกัน" นายอุตตม กล่าว

ส่วนมาตรการปลดภาระหนี้เกษตรกร ผ่าน ธ.ก.ส. สามารถทำได้เลย หลังจากมีมติ ครม. อนุมัติ

ประกันรายได้สินค้าเกษตรต้องรอเข้าประชุมครม. ก่อน

นายอุตตม ยังระบุด้วยว่า สำหรับการประกันรายได้สินค้าเกษตร คิดว่า ในการประชุมครม. วันอังคารนี้ ยังไม่เข้า เพราะมาตรการนี้ ยังต้องนำเข้ามาอีกชุด โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการหารือ ต้องเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง แล้วเข้าครม.เศรษฐกิจ ก่อนเข้า ครม.ใหญ่อีกที

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :