วันที่ 10 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสถานะของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ว่าสมาชิกรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
แต่ปัญหาคือ กรณีของ พิธา มีคุณสมบัติในวันที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมามีผู้ไปยื่นร้องเรียนต่อ กกต. ทำให้ กกต. มีทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองเบื้องต้น คล้ายกับพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ดังนั้นเมื่อ กกต.รับเรื่องไว้ แล้วต้องตรวจสอบหลักฐานว่าครบถ้วนหรือไม่ จากนั้นต้องรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญ
"ผมมองว่าเป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรม พิธา จะถูกหรือผิด จะมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ชัดโดยเร็ว มิเช่นนั้น เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค. คงจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และมีการหยิบยกมาตรา 272 ซึ่งมีการพูดถึงคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ไปโยงกับมาตราอื่นๆ นำไปสู่ข้อสงสัยว่าข้อยุติคืออะไร หากเลือกไปจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่"
ดิเรกฤทธิ์ ยังยกตัวอย่างโครงสร้างทางคดีอาญาตามมาตรา 151 ที่ทราบอยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง ในทำนองเดียวกัน หากสมาชิกรัฐสภารู้อยู่แล้วว่า พิธา ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วยังโหวต อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ และจะมีโทษทางอาญาด้วย
"เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อหลักการพิจารณาในวันที่ 13 ก.ค. กล่าวคือ คุณสมบัติของ พิธา เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องพิจารณา ประกอบการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ "
ดิเรกฤทธิ์ จึงลงความเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และเมื่อศาลรับเรื่องแล้ว จะต้องมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่น หากถูกร้องว่ามีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางเมือง จะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร เพราะเมื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่ได้ จะมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง
ดังนั้น ศาลอาจจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพราะในทางปฏิบัติหาก พิธา ชนะ ก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้ ความเป็นรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่ง ส.ส. ของ พิธา ก็จะเป็นโมฆะทั้งหมด
เมื่อถามว่าการยื่นวินิจฉัยคุณสมบัติ ของ พิธาส่งผลต่อการพิจารณาของ ส.ว. ที่ตั้งใจจะสนับสนุน พิธา เป็นนายกฯ หรือไม่นั้น ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนเคยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ ว่าจะประคับประคองระบอบรัฐสภา คือ ส.ส.เสียงข้างมากมีหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ก็ควรสนับสนุน รวมถึงผู้ที่ถูกเสนอจะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องเลื่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า วาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องของรัฐสภา อยู่ที่คน 750 คน จะมองว่าหากเลือกไปแล้วจะไม่มีปัญหาตามมา ก็สามารถดำเนินการได้ แต่หากมีคนมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด ก็สามารถใช้มติของรัฐสภาเลื่อนวาระออกไปได้ ซึ่งจะต้องรอวันที่ 13 ก.ค.
ทั้งนี้ ส่วนตัวอาจจะยกมือขอหารือในที่ประชุมในประเด็นดังกล่าวด้วย แต่หากในวันที่ 13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีการเลื่อนวาระลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.หลายคนอาจใช้วิธีงดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกในการเลื่อนวาระดังกล่าว และกลับมาโหวตในครั้งต่อไปได้