ไม่พบผลการค้นหา
รฟท. รอกลุ่มซีพีตอบ จะคุยต่อหรือยุติเจรจารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ปัดตกข้อเสนอพิเศษด้านการเงินตามที่กลุ่มซีพีเสนอ วงในเผย กลุ่มซีพีขอเลื่อนให้คำตอบสัปดาห์หน้า แม้กรอบเวลาจะสิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค.นี้ก็ตาม

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (4 มี.ค.) กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ กลุ่มซีพี จะตอบข้อเสนอ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือยุติการเจรจา หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้สรุปผลการเจรจาในซองที่ 4 เกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติว่า จะไม่รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้อง 12 ข้อ จากทั้งหมดที่เสนอมากกว่า 100 ข้อ อาทิ การขยายการก่อสร้างอีก 6 ปีจากเดิม 5 ปี, การให้รัฐรับประกันผลตอบแทนของโครงการหากไม่ถึงร้อยละ 6.75, การขยายอายุสัมปทานจาก 50 ปีเป็น 99 ปี และการขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากขัดกับมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้อเสนอการร่วมลงทุน หรือ RFP (Request for Proposal)  

ดังนั้น เบื้องต้นหากกลุ่มซีพีรับที่จะเจรจาต่อในประเด็นอื่นเพิ่มเติม จะมีการนัดหารือในวันพรุ่งนี้ (5 มี.ค.) แต่ยืนยันว่าจะไม่นำข้อเสนอที่ปัดตกแล้วกลับมาพิจารณาใหม่แน่นอน ซึ่งในทางกลับกัน หากกลุ่มซีพีไม่รับข้อสรุปของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะมีการเรียกผู้เสนอราคาในลำดับถัดไป คือ กลุ่มบีทีเอสเข้ามาเปิดซองที่ 4 เป็นรายถัดไป โดยยังตั้งเป้าว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาและเริ่มลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเบื้องต้นระบุว่า ล่าสุด ทางซีพี ได้แจ้งขอเลื่อนการตอบออกไป เป็นสัปดาห์หน้า เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรผู้ร่วมทุน ซึ่งคำตอบของซีพี มีแค่ตอบรับว่าจะเจรจาต่อในเงื่อนไขภายใต้ RFP เพื่อไปต่อ หรือ หากไม่ยอม ก็ถือว่า การเจรจากับซีพี ไปต่อไม่ได้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ย้อนที่มา 'รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน' เส้นเลือดใหญ่สู่ 'อีอีซี'

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร

เบื้องต้น คาดจะมีการคิดค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมือง-อู่ตะเภา 500 บาท/เที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา 300 บาท/เที่ยว

โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2561 มีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นซองข้อเสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 ราย จากผู้ซื้อเอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 31 ราย โดยเอกชน 2 รายดังกล่าว ประกอบด้วย

  • กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD , China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
  • กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)

ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประกาศว่า กลุ่มซีพีและพันธมิตรเสนอราคาต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอราคาต่ำเป็นอันดับ 2 ที่ 169,934 ล้านบาท และจะพิจารณาซองที่ 4 ภายในเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา พร้อมกับคาดการณ์ว่า จะได้รายชื่อผู้ชนะทำโครงการดังกล่าวภายในเดือน ม.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม การยื่นข้อเสนอซองที่ 4 และการพิจารณาโครงการดังกล่าวยืดเยื้อมาถึงปลายเดือน ก.พ. 2562 โดยที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการสรุปผลการเจรจาในซองที่ 4 เกี่ยวกับข้อเสนอพิเศษจากกลุ่มซีพี 108 ข้อ และมีมติว่าจะไม่รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน พร้อมกับกำหนดวันหารือประเด็นดังกล่าวกับกลุ่มซีพี และพันธมิตรในวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งมีเส้นตายว่า หากซีพีและพันธมิตรไม่รับตามข้อสรุปของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะยุติการเจรจากับกลุ่มซีพีทันที

หมายเหตุ : ภาพปกเป็นเหตุการณ์วันยื่นซองข้อเสนอฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :