ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' เชื่อ 'พรรคร่วมรัฐบาล - ส.ว.' รับคำสั่งจากทำเนียบฯ พลิกลิ้นโหวตหาร 500 ประกาศชัดไม่ร่วมสังฆกรรม เตรียมลุยศึกซักฟอก - ตีความ 8 ปีนายกฯ

วันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงต่อกรณีรัฐสภามีมติเห็นชอบสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยการ 500 

ชัยธวัช กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นปัญหา และเรายืนยันมาตลอดว่า การแก้ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเจตนาชัดเจนทั้งบทบัญญัติ และการอภิปรายว่า ต้องการเปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ไม่ใช่จัดสรรปันส่วนผสม

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคก้าวไกลเองก็ได้เสนอร่างพ.ร.ป.แบบดังกล่าวมาโดยตลอด เพราะยึดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และหลักการที่ถูกต้อง แต่น่าเสียใจว่า เมื่อคืนนี้การลงมติของสภาฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อออกแบบระบบเลือกตั้งที่ดีเพื่อประชาชน แต่เพื่อตอบสนองต่อการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด

ชัยธวัช เสริมว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่เห็นด้วย และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด รวมถึงคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงร่วมมือกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อออกจากระบบประยุทธ์ให้ได้ พี่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือตีความแปดปีของนายกฯ 

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีปัญหาอยู่นี้ หากผ่านรัฐสภาไปได้ ตามมาตรา 132 ก็จะต้องส่งไปให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือกกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น เราต้องรอดูว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการส่งความเห็นกลับมาว่า ร่างพ.ร.ป.ที่ให้ความเห็นชอบขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะจัดต่อรัฐสภาให้แก้ไขอีกครั้ง 

ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเรามีจุดยืนที่สม่ำเสมอว่า ระบบการเลือกตั้งต้องประณีต และเห็นแก่ประชาชน รวมถึงเสนอให้ใช้กระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่เมื่อระบบมันกระท่อนกระแท่นแบบนี้ เราไม่มีทางเลือกนอกจากระบบคู่ขนานที่หารด้วย 100 

ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงว่า การแปรญัตติในร่างที่หาร 100 นั้น สุดท้ายถูกนำไปจับคู่กับร่างของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และเห็นว่า เสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.นั้น เป็นร่างที่ไม่รอบคอบ เพราะนำกฎหมายลูกในปี 2554 มารวมกับระบบเลือกตั้งปี 2540 สุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหาคือ ส.ส.ปัดเศษ ทำให้สองพรรคที่มีคะแนนต่างกัน ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่ากัน 

"เป็นเหตุผลว่า พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยกับกมธ. เสียงส่วนมาก แต่เห็นด้วยกับร่างหาร 100 ที่พรรคได้แปรญัตติไป ทำให้การเลือกตั้งปีหน้าไม่มีข้อครหาเหมือนปี 2562" ปกรณ์วุฒิ กล่าว 

ในช่วงท้าย รังสิมันต์ กล่าวว่า เชื่อว่าตอนแรกทุกคนรู้ว่าจะเป็นระบบหาร 100 แต่วันสองวันที่ผ่านมาเกิดพลิกกลับ ไหนที่พูดว่า ส.ว. เป็นอิสระ สุดท้ายคงไปคุยกันที่ทำเนียบรัฐบาล การทำหน้าที่ของ ส.ว.ในสภาแห่งนี้ ไม่มีความเป็นอิสระจริงๆ เป็นที่น่าผิดหวังที่ไม่ใช่ระบบเพื่อประชาชน แต่อยู่บนพื้นฐานว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ สุดท้ายไม่มีประชาชนอยู่ในสมการตรงนี้