วันที่ 10 ธ.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท โดย ยุทธพงศ์ กล่าวว่า ตนเป็น ส.ส. ในภาคอีสาน และได้ลงพื้นที่พบว่า ร้านขายอาหารตามสั่งในต่างจังหวัดจานละ 50 บาท กาแฟเย็นแก้วละ 30 บาท เท่ากับว่า เงิน 100 บาทนั้นแทบจะใช้จ่ายไม่พอ ถ้าค่าแรงไม่ปรับขึ้น โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดจะอยู่ไม่ได้เพราะหนี้สินจะเพิ่มมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่มา 8 ปี สิ่งที่ประชาชนได้คือ หนี้ อีกทั้งยังมาถามว่าจะเอาเงินจากไหน ตนก็อยากจะถามกลับว่า เอาเงินมาจากไหนไปซื้อเรือดำน้ำ และเครื่องบินรบ ในวันนี้ปัญหาสำคัญคือเรื่องรายได้ ฉะนั้นการสร้างรายได้ให้พอกับค่าครองชีพ เป็นที่มาของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570 ถ้ามีรายได้มากขึ้น มีเงินพอไปใช้หนี้ เพื่อไทยไม่มีนโยบายพักหนี้ มีแต่นโยบายปลดหนี้โดยการสร้างรายได้เสริม
นอกจากนี้ ยุทธพงศ์ ยังกล่าวถึง ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกด้วย โดยเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยเป็นคนยื่นญัตติเรื่องแรกในสภาผู้แทนราษฎรปี 2562 ซึ่งวันนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมาทวงหนี้ 40,000 ล้านบาท ถามว่า เงินตรงนี้มันถูกต้องหรือไม่ โดยล่าสุด BTS ปล่อยคลิปทวงหนี้ด้วยการที่เจ้าสัวคีรีนำพนักงานไปไหว้เท้าเทพมหาพรหม
ยุทธพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลจงใจทำผิดสัญญาสร้างหนี้ 40,000 ล้าน เอื้อประโยชน์ให้ BTS โดย กทม. ก่อนยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้กรุงเทพธนาคม หรือ KT ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า โดยไม่มีการเปิดประมูลทำให้เกิดหนี้ก้อนแรก 22,000 ล้านบาท และกทม. ปล่อยให้ประชาชนได้นั่งฟรี โดยไม่มีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2561 มีแต่ค่าวิ่งรถที่เป็นหนี้ส่วนที่ 2 จำนวน 14,000 ล้านบาท ต่อมา กทม. หยุดจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เกิดหนี้ส่วนที่สามคือ 4,000 ล้านบาท
รัฐบาลประยุทธ์ บริหารล้มเหลวปล่อยให้เป็นหนี้ 40,000 ล้านบาท เปิดทาง BTS เสนอขอแลกหนี้กับการขยายสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 37 ปี และหนี้ 40,000 ล้าน มีที่มาไม่โปร่งใส กทม. หนี พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ไม่เปิดประมูล ทำให้ กทม. ทำสัญญาบีทีเอสขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน และกทม. ให้ KT เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ที่อยู่นอกอำนาจ กทม. คือ ปทุมธานี และสมุทรปราการ ต่อมา KT จ้างบีทีเอสติดตั้งระบบ โดยมีทรัพย์สินส่วนต่อขยายยังเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ของกระทรวงคมนาคม
ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่คำพิพากษาศาลปกครองกลาง สั่งให้ กทม. ละ KT ใช้หนี้เดินรถส่วนที่ 1 จำนวน 2,350 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 9,406 ล้านบาท รวมเป็น 11,756 ล้าน และกทม. และ KT ต้องจ่ายหนี้ให้ BTS
นอกจากนี้ เรื่องนี้มันควรจะมีทางออกคือ สัญญามันผิดกฎหมาย ข้อ 27.2 หาก กทม. ขยายสายทางระหว่างอายุสัญญา BTS มีสิทธิเป็นเจ้าแรกแต่ต้องมีการเปรียบเทียบราคาเพื่อรับเงื่อนไขที่ดีที่สุดที่ กทม. เสนอมา และต้องอุทธรณ์เพราะไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมลงทุน แก้ระเบียบจัดจ้าง ทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ KT จ้างตรงกับบีทีเอส
ทำสัญญานอกเหนืออำนาจไม่ผ่านสภา กทม.
ด้าน จิรพงษ์ ได้กล่าวเสริมว่า ภายหลังที่ แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดตัวนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ได้มีเสียงวิจารณ์มากมายว่าทำได้จริงหรือเปล่า ซึ่งในรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยก็สามารถทำได้จริง โดยที่ผู้ประกอบการไม่เดือดร้อน ด้วยการอัดฉีดซอฟต์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2 ปี ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่เจริญก้าวหน้า
นโยบายคนพูดให้สวยหรูก็พูดได้ แต่ทำได้คือพรรคเพื่อไทย เมื่อย้อนมองดูการทำงานของรัฐบาล พบว่า หนี้ประชาชนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมาอีก 100,000 ล้านบาท ถามว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างไร นั่นคือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 1% เป็น 1.25% แล้วอย่างนี้ประชาชนที่เป็นหนี้อยู่แล้วยังต้องมาจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แล้วจะลืมตาอ้าปากได้อย่างไร อีกทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ภาคธุรกิจเอกชนได้เงินไปถึง 39% แต่ SME หรือธุรกิจขนาดเล็กกลับได้ส่วนแบ่งเพียง 25% ตามสัดส่วนวงเงิน