ไม่พบผลการค้นหา
กิตติพล อัจฉริยากรชัย ให้บทเรียนในฐานะฟรีเเลนซ์ ที่นอกเหนือจากความขยันแล้ว จิ๊กซอชิ้นสำคัญของความอยู่รอด คือ ความรับผิดชอบ ที่เขาให้คุณค่ากับมันเป็นลำดับแรก

ฉากชีวิตและบทเรียนการทำงานในฐานะ ‘ฟรีแลนซ์’ อันยาวนาวกว่า 25 ปีของ กิตติพล อัจฉริยากรชัย ถูกฉายภาพในระหว่างมื้อกาแฟยามบ่าย ที่ร้านสตาร์บัคส์ ภายในตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ย่านสาทร 

ชายวัย 41 ปีที่มีชื่อเล่นว่า ‘แว่น’ ผ่านประสบการณ์มาอย่างช่ำชองไล่ตั้งแต่ คุณครูสอนคอมพิวเตอร์เด็ก , คอลัมนิสต์ , ที่ปรึกษาด้านไอทีและธุรกิจออนไลน์ , อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย , นักเขียนบทรายการโทรทัศน์ , นักแปล , ธุรกิจดิจิทัลเอเจนซี และแม้แต่รับทำของชำร่วย 

นอกเหนือจากความขยันแล้ว จิ๊กซอชิ้นสำคัญของความอยู่รอดในฐานะฟรีแลนซ์ คือ ความรับผิดชอบ ที่เขาให้คุณค่ากับมันเป็นที่หนึ่ง 


ล่าโอกาสและต่อยอด 

กิตติพล เริ่มต้นทำงานตั้งแต่ยังเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC) แม้จะเรียนด้านธุรกิจแต่ด้วยความสนใจส่วนตัวด้านคอมพิวเตอร์ทำให้เขากล้าที่จะวิ่งเข้าหาโอกาสและไม่กลัวที่จะผิดพลาด 

เขาเริ่มสมัครเป็น "ครูพาร์ทไทม์" สอนคอมพิวเตอร์เด็กที่โรงเรียน FutureKids หลังเห็นป้ายประกาศข้างทาง รายได้เป็นชั่วโมง คิดเป็นเงิน 250 – 1,000 บาทต่อวัน 

ด้วยความขยันและอยากให้เด็กๆ ได้เรียนเนื้อหาเพิ่มเติม เขาทำเอกสารรวบรวมข้อมูลเรื่องโมเด็ม พร้อมภาพประกอบ จนวันหนึ่งนิตยสารคอมพิวเตอร์เปิดรับสมัครนักเขียน จึงส่งต้นฉบับไป ได้รับการตีพิมพ์บทความและเริ่มอาชีพ "คอลัมนิสต์" ตั้งแต่อายุ 17 ปี 

ทำงานได้ยอดเยี่ยมในบทบาทคุณครูของเด็กๆ ก็เริ่มมีผู้ใหญ่อยากเรียนบ้าง ได้รับการทาบทามให้ไปทดลองสอนที่บ้าน ก่อนจะได้รับการติดต่อให้เป็น "ที่ปรึกษาด้านไอที" บริษัทเอกชน โดยขณะนั้นเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะบริหารธุรกิจ 

เข้าทำงาน 2-3 วันต่อสัปดาห์ เงินเดือน 12,000 บาท และอยู่มายาวนานกว่า 15 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับการแนะให้ไปเป็น "ที่ปรึกษาด้านไอที" บริษัทญี่ปุ่นที่ทำกิจการส่งออกรายเล็กๆ คว้าเงินเดือน 7,000 บาท เข้าบริษัทเดือนละ 1 ครั้ง และอยู่มากว่า 20 ปี

ภายหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ถูกชวนให้ไปเป็น อาจารย์พิเศษด้านอีคอมเมิร์ซ ให้กับ ม.อัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็เรียนระดับปริญญาโทไปด้วย ทำรายได้เดือนละ 15,000-25,000 บาท และยึดอาชีพนี้มา 20 ปี

สมัครเป็นพิธีกรรายการทีวีด้านไอที แต่กลับได้รับโอกาสเป็น "นักเขียนบทรายการโทรทัศน์" เข้าทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์ รายได้เดือนละ 20,000-30,000 บาท กระทั่งวันหนึ่งถูกจับมาเป็นพิธีกรจำเป็น สร้างรายได้กว่า 20,000-60,000 บาทต่อเดือน เรียกว่า เขียนสคริปต์เอง เป็นพิธีกรเอง

กิตติพล คว้าโอกาสแล้วโอกาสเล่า เป็นที่ปรึกษาบริษัทด้านไอทีและธุรกิจออนไลน์ เขียนบทความ เป็นพิธีกรบนเวทีสัมมนา สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเติม รับงานแปล Press Release ด้านไอที และเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ 

ต่อมายังอาศัยความใฝ่รู้จับมือพี่สาวที่รู้จัก รับออกแบบกราฟิก ทำโบรชัวร์ ไล่มาจนงานเว็บไซต์ ก่อนจะมาเปิดธุรกิจดิจิทัลเอเจนซีเล็กๆ ดูแลตั้งแต่งานระบบ งานเว็บ งานแอปพลิเคชัน งานโซเชียลมีเดีย เป็นต้น 

วีถี ฟรีแลนซ์


อย่าซีซั้ว - พลาดแล้วกล้ายอมรับ

เขาบอกว่าเส้นทางและโอกาสที่ได้รับนอกเหนือจากความโชคดีแล้ว การทำงานแต่ละอย่างยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาตัวเองและต่อยอดในเส้นทางที่ใกล้เคียงหรือเชื่อมต่อกันและกัน ขณะที่ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะ “ผมเป็นคนไม่ซี้ซั้ว” ทำได้บอกได้ ไม่ได้คือไม่ได้ รวมถึงไม่สร้างความคาดหวังที่เกินจริงให้กับลูกค้า

“ผมไม่โกหกลูกค้า อะไรที่ทำไม่ได้ เราจะพยายามหาทางทำให้ได้ และถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็ยอมรับว่าไม่ได้” 

ประเด็นต่อมาคือการสื่อสาร ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของ ‘ฟรีแลนซ์’ หลายคน เขาบอกว่าการสื่อสารได้อย่างตรงประเด็นและสร้างความเข้าใจให้กับอีกฝ่าย มีผลให้หลายๆ อย่างนั้นง่ายดายขึ้น 

“ฟรีแลนซ์บางคนไม่สามารถพูดคุยกับลูกค้าได้ เรียบเรียงคำพูดของตัวเองไม่ถูก ถามความต้องการของลูกค้าไม่ได้ ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจ”

“ผมพยายามฝึกฝนการตั้งคำถาม ฟังให้เยอะและตอบให้ตรง พัฒนาลำดับความคิดและการสื่อสารออกไปทักษะพวกนี้สำคัญมากสำหรับฟรีแลนซ์”

ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการยอมรับและอธิบายวิธีการจัดการแก้ปัญหาที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่น 

“ทุกคนพลาดได้ แต่หลายคนพลาดแล้วชอบแถ ผมพลาดแล้วก้มหน้าก้มตาไปสารภาพผิด ผมพลาดจริงๆ ครับ เพราะ 1 2 3 ผมว่าลูกค้าต้องการรู้ว่า คุณพลาดแล้วจะจัดการอย่างไร” กิตติพลบอกและว่าให้รักษาลูกค้าไว้อย่างเต็มที่

รุ่นใหม่-สตาร์ทอัพ-คอมพิวเตอร์-ทำงาน-ฟรีแลนซ์

เข้าใจธุรกิจบ้าง 

ฟรีแลนซ์หนุ่มกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ชอบทำ และมีความสามารถที่ยอดเยี่ยม แต่กลับไม่รู้วิธีการขาย ไม่กล้าเข้าหางาน กลัวการถูกปฏิเสธทั้งที่เป็นเรื่องปกติ ขณะที่บางคนเมื่อเจออุปสรรค กลับมองว่างานของตัวเองไม่ดี จนนำไปสู่การทำสงครามราคา ใช้ปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเพื่อทำให้ขายงานได้ง่ายขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมีวิธีการนำเสนอ สื่อสาร อธิบายให้กับลูกค้าเข้าใจเนื้องานของเรามากกว่าที่เป็น

แกนหลักในวงการธุรกิจที่ฟรีแลนซ์ต้องรู้จักคือ 4P หรือ Marketing Mix , 6C กลยุทธ์พัฒนาอีคอมเมิร์ซ , SWOT Analysis เป็นต้น พวกนี้เป็นสูตรง่ายๆ ที่สามารถนำมาไล่เช็กตัวเองและงาน

“หยิบสูตรพวกนี้มาทำความเข้าใจ จะทำให้เราพอรับรู้ว่าจริงๆ แล้วเราควรขายอะไร ขายยังไง ขายให้ใคร ถ้าเราขายถูกที่ถูกทาง โอกาสประสบความสำเร็จก็มีมาก” 

เขาบอกว่าเรื่องเหล่านี้ดูเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะฟรีแลนซ์มองตัวเองเป็นเพียงแค่ลูกจ้าง ทั้งที่จริงๆ ควรมองตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ตั้งแต่การนำเสนอ การทำงาน ต้นทุน รายรับที่ไม่สม่ำเสมอ จนกระทั่งการวางแผนด้านภาษี หรือการเพิ่มทุนต่อยอดศักยภาพ 

“ถ้าคุณมองว่าการเป็นฟรีแลนซ์ = เป็นนายตัวเอง และมีอิสระเต็มที่ คุณก็ต้องเตรียมพร้อมบริหารธุรกิจของตัวเอง ไม่ใช่ทำงานแบบลูกจ้าง และหลงลืมไซเคิลของงานบางอย่างที่อาจไม่ได้มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากวางแผนการใช้จ่ายไม่เหมาะสม ก็เท่ากับเพิ่มความไม่มั่นคงให้กับตัวเอง” 

ฟรีแลนซ์ ต้องรอด


ตื่นให้เช้า รักษาเป้าให้ชัด  

ปัญหาของฟรีแลนซ์หลายคนคือการจัดสรรเวลาและลำดับความสำคัญในการทำงาน 

กิตติพล ที่ชื่นชอบเอสเพรสโซ่ จัดตารางงานลงในปฏิทินและทบทวนเป็นประจำทุกเช้า พยายามล็อกเป้าให้ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการณ์ โดยรักษาคุณภาพงานให้สอดคล้องไปด้วย ไม่ใช่รับงานจำนวนมากโดยละเลยคุณภาพ

“ฟรีแลนซ์ส่วนหนึ่งที่ผมเจอ อย่างเช่น ช่างภาพ เอาแต่ถ่าย ถ่าย ถ่าย รับ รับ รับ แต่ไม่มีเวลา Process ภาพให้กับลูกค้าเลย ท้ายที่สุดกองเป็นดินพอกหางหมู ไม่อยากทำอีกแล้ว”  

รักษาวินัยให้เป็นนิสัย ค่อยๆ ฝึกเพื่อให้งานทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด เนื่องจากเราไม่รู้ว่าความผิดพลาดของเรากำลังสร้างปัญหาให้กับใครหลายคนหรือไม่ 

“เราส่งเลตไป 2 ชั่วโมง แต่คนที่บี้งานเราอยู่กำลังมีปัญหาอีกหลายทอด เรากำลังสร้างความอึดอัดให้กับคนอื่น” 

วิธีง่ายๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จ คือ การตื่นให้เช้าขึ้น 

“สมัยก่อนผมเป็นฟรีแลนซ์ ผมไม่นอน หรือนอนดึก ตื่น 11 โมง แต่ตอนหลัง เราเรียนรู้ว่าเวลาที่เราตื่นสาย ยืดยาดอีก 1-2 ชั่วโมง ลูกค้าไม่มีเวลาคุยกับเราแล้ว เราเหลือเวลาคุยกับลูกค้าแค่อีกครึ่งวัน ซึ่งช่วงบ่ายเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสมเท่าไหร่ในการพูดคุยกับลูกค้า เพราะพวกเขาเองก็ล้าเหมือนกัน”

วีถี ฟรีแลนซ์

กิตติพลเชื่อว่าหลักการใหญ่ในชีวิตและการทำงานคือ ‘อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติกับเขาอย่างนั้น’ และต้องมี ‘ความรับชอบต่อตัวเองและผู้อื่น’

“อะไรที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เราไม่ทำ แล้ววินัยมันจะตามมาเอง” กิตติพลที่บอกว่าตัวเองมีข้อเสียที่ไม่เข้าสังคม ทำให้หลายครั้งก็ทิ้งโอกาสบางอย่างไปกล่าว

'ฟาสต์เวิร์ค' แพลตฟอร์มการให้บริการจัดหางานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เปิดเผยรายงานเมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า สถิติของผู้มีอาชีพอิสระในไทยปัจจุบันมีถึง 2 ล้านคน แนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 3-6 แสนคนในทุกๆ ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ รักอิสระ หรือพึงพอใจกับการจ้างงานที่ไม่มีข้อผูกมัดแบบงานประจำมากขึ้น 

หมวดหมู่งานที่เป็นที่นิยม ซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. Graphic and Design ร้อยละ 35 2. การตลาดและโฆษณาร้อยละ 20 3. Web and Programming ร้อยละ 15 4.งานเขียนและแปลภาษาร้อยละ 10 และ 5.งานภาพและเสียง อื่นๆ อีกร้อยละ 20

ฟรีแลนซ์ ต้องรอด

เรียนรู้ตลอดเวลา

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก แต่เพื่อที่จะเรียนรู้และเติบโตก้าวหน้าต่อไป คุณต้องเปลี่ยนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง และจงมองหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนั้น 

“ผ่านวันนี้ไปทุกอย่างมันก็ล้าสมัยหมดแล้ว เราต้องคิดแบบนี้ให้ได้ อย่างกราฟิกดีไซด์เมื่อก่อนจ้างออกแบบโลโก้ ยุ่งยาก มีรายละเอียดมากมาย แต่ทุกวันนี้มีเอไอ ใส่ชื่อเข้าไป มันออกมาร้อยกว่าแบบเลย มันออกแบบโลโก้ได้ภายในเวลา 1 นาที” เขาบอกถึงความก้าวหน้าที่ทุกคนต้องเจอ 

“เราจำเป็นต้องพยายามสำรวจตัวเอง เรียนรู้ไปกับการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะมีหลายๆ อย่างที่เราไม่ชอบ หรือมีอคติกับมันเนื่องจากไม่ใช่วิถีเดิมๆ ที่เราเคยทำ มันอาจจะไม่ได้ขลังเหมือนเมื่อก่อนแต่มันคือวิถีของอนาคตที่กำลังเดินไป บางอย่างผมเองก็ไม่ชอบ แต่ก็ต้องศึกษาและปรับตัว มองหาข้อดีของมัน ที่จะทำให้โลกและองค์ความรู้ขยายต่อไปมากยิ่งขึ้น”

เป็นข้อดีของฟรีแลนซ์ที่จะได้เรียนรู้และหยิบยืมมุมมองจากผู้อื่นมาพัฒนาตัวเอง เนื่องจากมีโอกาสได้พบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา 

“งานหลายๆ ชิ้นที่ผมแปล ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ทั้งนั้นเลย ผมหยิบมาใช้เพื่อต่อยอดและพัฒนาตัวเองเสมอ หรือการเป็นพิธีกรตามงานต่างๆ ตอนนั่งหลังเวทีเราก็ไปเรียนรู้ว่าเขาทำอะไร ไม่ได้ไปนั่งเฉยๆ ถามนั่นนี่ พอมีโอกาสเข้ามา ก็คว้าเอาไว้” เขาบอกเสียงเข้มว่าจงเสพความรู้ให้เหมือนกับชีวิตมนุษย์ที่ต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดสำคัญของ กิตติพล อัจฉริยากรชัย ที่ยึดถืออาชีพฟรีแลนซ์มา 25 ปี ปัจจุบันเขามีเพจ Freelancademy และ เพจนี้เพื่อนักแปล นำเสนอเรื่องราวเพื่อหวังส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่น

ฟรีแลนซ์ ต้องรอด


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog