ไม่พบผลการค้นหา
'ขัตติยา สวัสดิผล' เล่าประวัติ 'พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล' นายทหารผู้เสียชีวิตจากการถูกลอบยิง ในช่วงชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 พ้อผ่านไป 10 ปี คดีไม่มีความคืบหน้า

วันที่ 13 พ.ค. 'เดียร์' น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อ 2553 กล่าวรำลึกถึงบิดา เนื่องในวันที่ 13 พ.ค.เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ เสธ.แดง จากการถูกลอบยิง ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ มีการใช้กระสุนจริง และพบยอดผู้เสียชีวิต 94 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย

โดย น.ส.ขัตติยา ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า มารู้จัก “เสธ.แดง” ทหารไทยที่เสียชีวิต เพราะเลือกยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย เดียร์รู้สึกดีใจที่วันนี้คนรุ่นใหม่หันย้อนไปให้ความสนใจกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนมากขึ้น เดียร์เลยอยากขอเล่าถึงทหารผู้หนึ่งที่ชื่อ เสธ.แดง

ขอบอกก่อนว่า เสธ.แดง ที่กำลังจะเล่าถึงนี้ ไม่ใช่คนที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน แต่เป็นทหารไทยที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

(1) เสธ.แดง เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2494 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 11 โรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 22 (เหล่าทหารม้า) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 63 เข้ารับราชการเป็นทหารเมื่อปี 2516

(2) ปีแรกของชีวิตราชการ เสธ.แดง ไปประจำการที่กองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารม้ายานเกราะ ได้ออกราชการสนามเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษที่ 512 ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ 51 กองทัพภาคที่ 4 ทั้งเป็นผู้บังคับหมวดทหารม้าที่ 1 กองพันทหารม้าที่ 3 บนดอยแม่จริม จังหวัดน่าน ปะทะกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยเฉพาะกิจที่ 923 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก 309 จังหวัดอุดรธานี

(3) เสธ.แดง เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และที่ภูมิใจที่สุดคือการเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 30 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี (เป็นผู้บังคับกองพันคนแรกของกองพันทหารม้าที่ 30 รักษาพระองค์)

(4) ได้รับพระราชทานยศพลตรีเมื่อปี 2541 ซึ่งเป็นยศสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

(5) ในปี 2553 เสธ.แดง ตัดสินใจก้าวออกมาจากฝั่งของกองทัพ เพื่อมายืนเคียงข้างประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

(6) รู้ทั้งรู้ว่าการเลือกทางเดินแบบนี้จะต้องถูกกองทัพลงโทษ ทั้งเป็นอุปสรรคต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนยศ ถูกสั่งพักราชการ และมีการชงเรื่องให้ออกจากราชการ

(7) เสธ.แดง เห็นว่าประชาชนอยู่กันเองในที่ชุมนุมกลางเมือง อาจถูกกองทัพเข้ามาปราบหรือสลายการชุมนุมได้ตลอดเวลา จึงสอนผู้ชุมนุมถึงวิธีการป้องกันตัวเองเพื่อเอาตัวรอด อาวุธที่ใช้มีเพียงไม้ไผ่ ไม้พลอง ทุกอย่างไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่เพื่อช่วยรักษาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์

(8) วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะที่ เสธ.แดง กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม เสธ.แดง ถูกยิงด้วยกระสุนจากพลซุ่มยิงมุมสูงเข้าที่ศีรษะ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เสธ.แดง พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล คุณพ่อของเดียร์ ได้อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนเพื่อรักษาประชาธิปไตยจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

10 ปีผ่านไป คดีของคุณพ่อไม่มีความคืบหน้า

10 ปีผ่านไป ผู้มีอำนาจก็ยังใช้อำนาจของตนเพื่อปกป้องพวกพ้อง และรักษาอำนาจของตัวเองไว้โดยไม่สนหัวประชาชนอยู่เหมือนเดิม และยังไม่เห็นมีนายทหารคนไหนกล้าทำอย่างคุณพ่ออีกเลย

"วันนี้ คุณพ่อก็ได้ชื่อว่าเป็นทหารของประชาชนทหารที่ได้ทั้งความรัก ความศรัทธา และความเคารพจากประชาชน แค่นี้ก็ทำให้ลูกสาวอย่างหนูภาคภูมิใจเป็นที่สุดแล้ว คิดถึงคุณพ่อทุกวัน" 

อ่านเพิ่มเติม