ไม่พบผลการค้นหา
อดีตบรรณาธิการเดอะเนชั่น ชำแหละทัศนะทหารเมียนมาผ่านอุดมการณ์อำนาจนิยม ด้านอาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ฉายภาพประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและภาพจำคนรุ่นใหม่ต่อ อองซาน ซูจี

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสื่ออาวุโส ร่วมเวทีเสวนารัฐประหารเมียนมา : กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย? ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมา


ย้อนปฐมบทความขัดแย้ง

ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉายภาพประวัติศาสตร์การปกครองเมียนมา ผ่านไทม์ไลน์นับตั้งแต่ได้รับเอกราชปี 1948 เมียนมาเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้ระบอบใดระบอบหนึ่ง หลังทำรัฐประหารโดยนายพลเนวินปี 1958 กองทัพมีปรัชญาชัดเจนว่าไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยแยกออกเป็นรัฐอิสระ เพราะเป็นเรื่องที่กองทัพรู้สึกยอมรับไม่ได้

ต่อมาได้ให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะจัดเลือกตั้งภายใน 18 เดือน ทว่าผลคะแนนกลับเทไปยังพรรคการเมืองฝ่ายพลเรือนอย่างถล่มทลาย ในปี 1962 กองทัพมองว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถรวบรวมสหภาพให้เป็นปึกแผ่นได้ จึงใช้ข้ออ้างดังกล่าวรัฐประหารอีกครั้ง

มินอ่องหล่าย
  • มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำการรัฐประหาร

สอดคล้องกับปัจจัยที่การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางวิกฤตเรื่องโรฮิงญาแต่ไม่มีผลกับคำวิจารณ์ เพราะทัศนะของคนพม่า ยกย่องให้อองซาน ซูจี เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ที่เสียสละมาทั้งชีวิตเพื่อสิทธิเสรีภาพ 

"ต้องแยกแยะให้ออกว่า อองซาน ซูจี คนเดิม ที่มีเรื่องให้คนด่าเยอะมาก กับ อองซาน ซูจี ในปัจจุบันที่เขาถือว่าเป็นเหยื่อของการปฏิวัติ ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน มีชะตาชีวิตเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนั้นการประท้วงครั้งนี้จะเห็นว่าเด็กๆ ที่เขาไม่อินกับอองซาน ซูจี อย่างน้อยที่สุดดอว์ซูก็มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญทุกประการ" ลลิตา กล่าว


จิตสำนึกคนรุ่นใหม่

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ยังกล่าวถึงการรวมตัวกลุ่มแพทย์พยาบาลที่ออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาในปี 1988 เคยมีเหตุการณ์บุกเข้าไปจับนักศึกษาที่ออกมาประท้วงในสถานพยาบาล มีแพทย์เป็นแนวหน้าปกป้องนักศึกษา ดังนั้นจึงเป็นจิตใต้สำนึกของแพทย์พยาบาลรุ่นใหม่ในเมียนมาที่อยากเห็นสังคมที่มันดีกว่าการรัฐประหาร 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ 'กบฎในระบบ' ที่ข้าราชการเมียนมาออกมาชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงออกว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร อาทิ ครู เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงลูกเขยนายพลตาน ฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการทหารของพม่า และชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ร่วมขับไล่เผด็จการเช่นเดียวกัน  


"อุดมการณ์ทหารนิยม-ราชาชาตินิยม"

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยอิสระและอดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ The Nation เปรียบเทียบกองทัพไทยและเมียนมาในมุมมองความมั่นคงว่าอุดมการณ์ของกองทัพเมียนมามีลักษณะ 'ชาตินิยม-ทหารนิยม' ด้วยหมุดหมายความเป็นเอกภาพของสหภาพพม่า ความสมานฉันท์ในชาติ และรักษาอธิปไตยของดินแดน ขณะที่กองทัพไทยมีลักษณะ 'ราชาชาตินิยม' และความเป็นไทย 

โดยภารกิจของกองทัพเมียนมาคือ 1.ป้องกันประเทศ 2.ปกครองและบริหารประเทศ

ส่วนกองทัพไทยพบว่ามี 4 ภารกิจหลัก ประกอบไปด้วย 1.ป้องกันประเทศ 2.ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.รักษาความมั่นคงภายใน 4.ช่วยเหลือสถานการณ์ฉุกเฉิน 

เมียนมา
  • การสลายชุมนุมในเมียนมา

ด้านบทบาททางการเมืองของทหารเมียนมา 'สุภลักษณ์' นิยามว่าไม่เคยออกจากการเมืองตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ให้ง่ายต่อการกำจัดประธานาธิบดีฝ่ายพลเรือน พร้อมเข้าควบคุม 3 กระทรวงสำคัญทางการเมือง คือ 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงมหาดไทย 3.กระทรวงกิจการชายแดน ขณะที่กองทัพไทยจะเข้าไปฝังตัวในระบบการเมืองที่ตัวเองสร้างขึ้น เพราะไม่สามารถอยู่หน้าฉากได้ตลอด 


"สิ่งที่สำคัญที่สุดที่กองทัพเมียนมาไม่มีในเชิงทางการเมือง แต่กองทัพไทยมีคือการเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์ และอ้างความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์"


สรุปคือกองทัพเมียนมาควบคุมการเมือง เพราะกองทัพเมียนมานั่งอยู่บนยอดชั้นสุดของการปกครอง ขณะที่กลุ่มสังคมอีลีตพม่ามีขนาดเล็กกระจุกตัวอยู่ในองคาพยพของกองทัพ ทำให้ง่ายต่อการเจรจาต่อรองด้านเศรษฐกิจ กอปรกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยังไม่เข้มแข็งพอ โดยไม่สนใจว่าการยึดอำนาจหรือการปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมโลก 

ส่วนกองทัพไทย ผู้สื่อข่าวอาวุโสนิยามว่า 'แค่เล่นการเมือง' เพราะไม่ได้นั่งอยู่บนยอดพิีระมิดของอำนาจ อีกสาเหตุคือสังคมไทยมีอีลีตหลายขั้ว และยังมีการต่อต้านการรัฐประหารจากทั้งคนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้เขาได้มองอนาคตเมียนมาภายใต้การนำของกองทัพว่า สิ่งที่รัฐบาลเมียนมาจะเดินหน้าต่อไปคือทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) เข้าไปมีเสียงในสภา ส่วนตัวมองว่า หากให้พรรคเอ็นแอลดีบริหารอีกสมัย เชื่อว่าจะพ่ายแพ้เลือกตั้งในอนาคต เพราะที่่ผ่านมารัฐบาลพลเรือนบริหารเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนการนำของมินอ่องหล่ายน์อาจจะหยิบโมเดลของอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มาใช้ โดยมีกองทัพและพรรคการเมืองสนับสนุน และทำให้พรรคเอ็นแอลดีไม่ลงเลือกตั้งในสมัยหน้า

 

แรงกดดันจากชาติตะวันตกไร้ผล

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังการเปลี่ยนแปลงในเมียนมาว่า ธรรมชาติการเมืองเมียนมาอยู่ภายใต้การนำของทหารมาโดยตลอด กองทัพมีจิตวิญญานว่าพวกเขาคือผู้สร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่จะล้มล้างแนวคิดได้แม้ว่าจะเปิดประเทศในปี 2010 ในปัจจุบันเชื่อว่าแรงกดดันของชาติตะวันตก ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวไม่สามารถทำให้เมียนมากลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในระยะสั้น 

"ปี 1988-2010 เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก มากไปกว่านั้นสถานการณ์ทางการเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การเดินประท้วง ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น ประวัติศาสตร์มันสอนเราว่า ผลกระทบจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ตกอยู่ที่กองทัพ กลับเป็นคนธรรมดามากกว่า" 

Reuters-สีจิ้นผิงจับมืออองซานซูจี ลงนามความร่วมมือ 18012020.JPG
  • อองซาน ซูจี - สี จิ้นผิง

สำหรับท่าทีของชาติตะวันตกจะผลักเมียนมากลับสู่อ้อมกอดสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไม่ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่าจากการศึกษานโยบายต่างประเทศของเมียนมาตั้งแต่อดีต ได้เปิดความสัมพันธ์หลายประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง และพยายามออกจากอิทธิพลของจีน ดังนั้นเมียนมาไม่ยอมศิโรราบเข้าหาจีนง่ายๆ

แม้ว่าที่ผ่านมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้เมียนมาเข้าไปพึ่งพาอิทธิพลจีน ในทางกลับกันจะเห็นว่า เมียนมาพยายามอย่างมากในการเป็นสมาชิกอาเซียน และพยายามสานสัมพันธ์กับอินเดียและญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นว่าไม่อยากอยู่ใต้อาณัติของจีนมาโดยตลอด

ดังนั้นสิ่งที่จีนต้องการที่สุดคือเสถียรภาพ ไม่ว่าเมียนมาอยู่ภายใต้กองทัพหรือพลเรือน เพื่อผลักดันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในเมียนมา อาทิ ท่อส่งก๊าซหรือโครงการท่าน้ำลึก และเห็นได้ชัดจากกรณีโรฮิงญาที่จีนวางตัวโดยไม่แทรกแซง และต้องการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างเมียนมาและบังคลาเทศ ในกระบวนการส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศ

อ่านเพิ่มเติม