ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' ท้วงแถลงนโยบายกว้างไป ขาดตัวชี้วัด ห่วงที่มางบกระเป๋าดิจิทัล รอลุ้นจัดงบปี 67

วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันแรก โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะฝ่ายค้าน โดยระบุว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาลถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเสมือนเป็นการให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่า 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะทำอะไรให้ประชาชนบ้าง จะเดินหน้าไปในทิศทางใด และจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ดังนั้นคำแถลงนโยบายในวันนี้ควรจะมีตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่มีเพียงคำอธิษฐานลอยๆ หรือ นโยบายแบบกว้างๆ 

“วันนี้จึงขอให้คะแนนการแถลงนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่ำกว่าเกณฑ์ เมื่อเทียบกับสมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลนี้ไม่มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไม่มีการอธิบายรายละเอียดนโยบาย และบรรจุนโยบายที่หาเสียงไว้ไม่หมด จึงไม่ตรงตามปกที่ได้หาเสียงไว้”

ศิริกัญญา หยิบยกการแถลงนโยบายในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และตรงกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง ทำให้ได้คะแนนที่สูงเป็นอย่างมาก จึงเกิดข้อสงสัยว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวกับหรือไม่ เพราะมาตรฐานไม่เหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลจึงมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชัดเจน เนื่องจาก 1.กลัวทำไม่ได้ ถ้าเขียนไปแล้วจะกลายเป็นข้อผูกมัดที่ให้ไว้กับประชาชน และ 2. เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วทำให้หาข้อสิ้นสุดของนโยบายม่ได้สักอย่าง ทำให้ต้องเขียนกว้างๆไว้ก่อน และไม่กล้าทำเรื่องที่จะปะทะกับใคร

พร้อมยกตัวอย่างนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน , เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท , ทุกครัวเรือนมีรายไม่น้อยกว่า 20,000 บาท แต่ในการแถลงนโยบายกลับระบุเพียง พักหนี้ตามความเหมาะสม ค่าแรงขั้นต่ำ และ เงินเดือนที่เป็นธรรม ทุกครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญไม่มี เรื่องของค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

ศิริกัญญา ระบุว่า ตอนนี้เราได้นายกฯ มาจากภาคเอกชน ก็หวังว่าจะนำแนวทางการบริหารภาคเอกชนมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลย อยากให้คิดว่าถ้าเป็นผู้บริหารใหม่ มาในการประชุม จะทำแบบนี้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับตอนเป็นผู้บริหารบริษัทแสนสิริท่านมีกรอบเวลาชัดเจนกว่ามาก

นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังอภิปรายต่อว่า เรื่องของความขัดแย้งของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่ได้พูดถึง การลดความเหลื่อมล้ำก็ไม่พูดถึง นโยบายไม่แตะเรื่องยาก ที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ มองว่าตอนหาเสียงกล้าหาญกว่านี้

“รัฐบาลกลัว กลัวทำไม่ได้ หากไม่คิดว่าจะทำได้ ไม่ควรไปหลอกประชาชน และหาเสียงไว้แต่แรกและเป็นรัฐบาลนี้ผสมข้ามขั้ว นโยบายก็คนละขั้ว จึงหาข้อสรุปไม่ได้ เลยเขียนนโยบายแบบกว้าง ๆ เอาไว้ รวมถึงที่มาของอำนาจ ก็ต้องเกรงใจผู้มีอำนาจต่าง ๆ ด้วย”

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า นโยบายในกรอบระยะสั้น อยากสอบถามว่าภัยแล้ง เอลนีโญ ไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ปัญหาชายแดนใต้ ไม่ถือเป็นเรื่องด่วน ส่วนกรอบระยะกลาง ลดรายจ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ หายไปไหนจากตอนหาเสียง 

“เรื่องลดความเหลื่อมล้ำไม่มีอยู่ในการแถลงนโยบาย ในสมัยที่ท่านยังไม่ได้เข้าวงการการเมืองเต็มตัว เคยแสดงความเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเก็บภาษีทรัพย์สิน ดิฉันก็ยังประทับใจถึงทุกวันนี้ แล้วทำไมตอนนี้ ถึงไม่มีแล้ว” 

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เรื่องโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต แหล่งที่มารายได้สำคัญที่สุดในเวลานี้ เพราะต้องใช้เงินมหาศาล ไม่ว่าจะออกแบบการใช้เงินแบบไหน ก็จำเป็นต้องมีเงินสดมากองเต็มจำนวนว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทในโลกดิจิทัล ต้องหาเงินมากองให้เห็นในจำนวนเท่านี้ เพื่อความน่าเชื่อถือ

ศิริกัญญา IMG_2492.jpeg

ศิริกัญญา ระบุว่า ในการแถลงนโยบายไม่มีที่มาของเงินว่าจะนำมาจากไหน ซึ่งตอนหาเสียงเคยบอกว่าอาจมาจากการตัดลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อน ตอนนี้มีแค่ 2 ทางเลือก คือเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเมื่อดูแล้วหากมีการตัดงบอื่น ๆ ก็มีงบไม่เพียงพอ ส่วนเงินนอกงบประมาณ ไม่ว่าจะกู้จากธนาคารรัฐ ยืมเงินกองทุนหมุนเวียน ก็มีเงินสดไม่เพียงพอ ดังนั้น เศรษฐา พูดตลอดว่าต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่จะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือไม่

ศิริกัญญา ระบุว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สมควรทำในเวลานี้หรือไม่ หากวินิจฉัยโรคไม่ถูกคงรักษาไม่ตรงจุด ตอนนี้จึงไม่ใช่ปั๊มหัวใจ แต่คือการให้สเตียรอยด์กับประชาชน การออกนโยบายนี้คือธรรมชาติที่เห็นคนไม่เท่ากัน การที่ผู้มีอำนาจกดคนตัวเล็ก ในการแบกรับค่าใช่จ่าย การคิดนโยบายที่ผ่านมาเป็นการโยกกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ โลกเปลี่ยน ไทยเปลี่ยน หนี้สาธารณะสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงไม่สามารถแก้ไขแบบเดิมได้แล้ว

“ขอให้จัดลำดับความสำคัญ การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแบบนั้นไม่ได้ ไปหวังเอาน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ถึงเวลาตั้งใจฟังเสียงที่ไม่ได้ยิน”

ศิริกัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อดีของการแถลงนโยบายที่กว้างๆ แบบนี้ คือยังมีเวลาทำอะไรนอกเหนือจากที่พูดไว้ได้ โดยไม่ถือว่าผิดสัญญา แม้จะพลาดในครั้งนี้ แต่ยังมีโอกาสอีกครั้งคือการถกเรื่องงบประมาณที่กำลังจะมาถึง ที่จะเป็นคำสัญญาในระยะ 1 ปี ที่รัฐบาลจะส่งมองนโยบายใดบ้างที่จะเกิดขึ้น จึงเฝ้ารอโอกาสในครั้งหน้าแล้ว

ศิริกัญญา ประชุมรัฐสภา IMG_2486.jpeg