ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' เห็นด้วยไม่แก้ รธน.หมวด 2 ทวงหลายนโยบายหาเสียง ติงผู้ว่า CEO ย้อน 20 ปี

วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 5 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันแรก โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านของประชาชน ตรวจสอบการบริหารอย่างเต็มความสามารถ โดยจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่จะไม่ค้านทุกเรื่อง รักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศ ส่วนการทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น คือแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ยืนยันไม่สนับสนุนการแตะต้องมาตรา 112 แต่จะทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอื่นๆ อย่างเต็มความสามารถ

“มาตรฐานของนโยบายชุดนี้ พูดตรงๆ ขออภัยท่านนายกรัฐมนตรี สวนทางกับความสูงท่านนายกฯ จริงๆ การตั้งโจทย์ประเทศก็คลุมเครือ ตัวนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรม วนไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” จุรินทร์ กล่าว

จุรินทร์ ยังระบุว่า นโยบายที่นายกฯ แถลงเมื่อครู่ กับนโยบายที่หาเสียง เป็นหนังคนละม้วน ไม่ตรงปก เช่น นโยบายค่าแรงปริญญาตรี 25,000 บาท อยู่ๆ ก็เป็นนโยบายนินจา หายไปแบบไร้ร่องรอย หรือคิดว่าอย่างไรรัฐบาลก็อยู่ไม่ถึงปี 2570 ตามที่หาเสียงไว้ เช่นเดียวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่เป็นนโยบายนินจาตัวที่ 2 

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำทันที หายไปอีก 1 นโยบาย รถไฟฟ้าไปจอดหลับอยู่ที่ไหน จนนักข่าวทนไม่ไหว ตามไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านก็อึกอักๆ บอกว่าอีก 2 ปีจะทำ ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยท่านก็ผิดคำพูดไปแล้ว 1 คำ อย่าผิดคำพูดคำที่ 2 ท่านต้องทำให้ได้”

ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะเอางบประมาณมาจากที่ใด ขณะที่นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตอนนี้เหลือเป็น ผู้ว่าฯ CEO รวบอำนาจมาสู่การปกครองส่วนภูมิภาค ย้อนหลังไป 20 กว่าปี

“ที่พูดมา สุดท้ายผมขอบอกว่า เป็นแค่ลมปากตอนหาเสียง เพราะผมมีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินแทนประชาชน และต้องพูดเพื่อให้รัฐบาลได้ตระหนักว่าหาเสียงได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนูและงูเห่ามาอยู่ด้วยกัน และกลายเป็นนโยบายการละคร”

สำหรับนโยบายด้านการเกษตร แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศว่าไม่มีนโยบายจำนำข้าว ถือเป็นเรื่องดี เพราะโครงการนี้สร้างหนี้รวม 884,000 ล้านบาท ยังต้องใช้หนี้อีก 254,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566 อีกทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่มีการชี้แจงที่มาของเงินที่ชัดเจน ยังไม่มีข้อสรุป แปลว่าเป็นนโยบายไปตายเอาดาบหน้า และต้องขอเตือนว่าอย่าให้เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีขัอสังเกต เพราะระบุว่าไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ คือหมวด 2 ซึ่งเห็นด้วย แต่แปลว่าหมวด 1 แก้ได้ใช่หรือไม่ คือเรื่องระบอบการปกครอง และรูปแบบของรัฐแบ่งแยกมิได้ เหตุใดนโยบายรัฐบาลไม่ระบุให้ชัด หรือเกรงใจใคร หรือพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด อย่าคิดว่าการแบ่งแยกดินแดนจะไม่เกิด ที่ผ่านมาก็มีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

จุรินทร์ ยังเน้นย้ำถึงนโยบายการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน ว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะมีระบุเพียงเล็กน้อย รัฐบาลต้องตระหนักว่า รัฐบาลท่านในอดีตเคยถูกยึดอำนาจมา 2 ครั้ง เพราะเหตุแห่งการทุจริต และออกกฎหมายล้างผิดการทุจริต จะต้องไม่นำประวัติศาสตร์ให้ซ้ำรอยเดิม

ทั้งนี้ ยังย้ำว่ารัฐบาลต้องฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้กลับมาเข้มแข็ง ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอกัน นักโทษทุกคนต้องเท่าเทียมกัน นโยบายนี้จะเป็นจริงได้ อยู่ที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล การพระราชทานอภัยโทษ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ผู้ได้รับอภัยโทษต้องสำนึก และรัฐบาลต้องสำนึก ว่าแม้โดนอภัยโทษก็ยังมีความผิด และยังมีโอกาสรับโทษใหม่ในอนาคต

“ถ้ารัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก ท่านก็ทำให้ถูก อย่าปล่อยเลยตามเลย อย่าสร้างมาตรฐานใหม่ เหยียบย่ำหัวใจคนรักความยุติธรรมและความสุจริต ให้หมดกำลังใจ นี่เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาล ที่จะทำให้วลีที่เราพูดกันติดปากว่า ‘คุกมีไว้แค่ขังคนจน กับคนไม่มีอำนาจ’ มลายไปได้ โดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน”

ธีรรัตน์ IMG_2482.jpegครูมานิตย์ IMG_2480.jpegเศรษฐา ประชุมรัฐสภา แถลงนโยบายIMG_2472.jpeg

ในระหว่างการอภิปราย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงผู้อภิปราย โดยระบุว่าตนผู้อภิปรายกำลังอภิปรายเลยกรอบที่เราวางไว้ ซึ่งต้องอภิปรายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ใช่ในอดีต สิ่งที่พูดก็เป็นเท็จกับในสภา เพราะทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาเสียหาย จึงขอให้ถอนคำพูดที่ว่ารัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ สร้างความเสียหายในเรื่องของโครงการจำนำข้าว

ขณะที่ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า ผู้อภิปรายก้าวล่วงว่ารัฐบาลเพื่อไทยในอดีตถูกรัฐประหารเพราะทุจริต ทั้งที่สังคมรู้กันดีว่ารัฐประหารเพราะเหตุอะไร ท้ายสุดดังที่เห็น บางพรรคก็อาศัยบุญบารมีของคณะปฏิวัติด้วย และขณะนี้กำลังจะสูญเสียอำนาจ และกำลังจะเสียอะไรหลายๆ อย่าง จึงขอให้ถอนคำว่า ทุจริต 

โดย วันมูหะมัดนอร์ทำหน้าที่ประธานการประชุม วินิจฉัยว่า เป็นการแถลงนโยบาย ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจไม่จำเป็นต้องถอนคำพูด แต่ขอให้อภิปรายต่อไปโดยระมัดระวัง