นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ตั้งแต่วันที่ 10 – 13 กันยายนจะมีฝนตกหนักทางตอนบนของประเทศจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่าน ดังนั้น จะมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนักบริเวณจังหวัดตาก แพร่ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร ทำให้น้ำในแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และลำน้ำสาขามีปริมาตรมาก ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกอ่าวไทย
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาตร 1,515 ลบ.ม. ต่อวินาทีและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อไหลมาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สำนักชลประทานที่ 12 ได้บริหารจัดการโดยแบ่งน้ำสู่แม่น้ำและคลองในระบบชลประทานซ้าย-ขวาอย่างเต็มศักยภาพแล้ว จึงเพิ่มอัตราการระบายเกินกว่า 900 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดครั้งละ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพิจารณาและควบคุมไม่ให้เกิน 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะมีผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 30 – 80 เซนติเมตร ทั้งนี้ การปรับเพิ่มการระบายน้ำนั้น จะเพิ่มเวลา 12.00 น. หรือ 18.00 น.เป็นไปตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำตอนกลางวัน เพื่อลดความกังวลของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้องแจ้งทางจังหวัดทุกครั้ง เพื่อเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า เช้าวันนี้ (9 ก.ย.) ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 901 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาตรน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์ไม่เพิ่มขึ้นเป็นเวลาเกินกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ดังนั้น จึงจะยังคงอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่ระดับนี้ไว้จนกว่าน้ำที่ไหลผ่านสถานี C2 จังหวัดนครสวรรค์มากกว่า 1,550 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงจะเพิ่มการระบายท้ายเขื่อน เหตุผลที่ต้องปรับเพิ่ม เนื่องจากต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพน้ำปัจจุบันและเตรียมรองรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น การระบายน้ำในเกณฑ์ 900 – 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยาสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำจะสูงขึ้นเฉลี่ย 30 เซนติเมตร ยกเว้นบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำที่สุดในตำบลหัวเวียงจะมีน้ำสูงขึ้น 80 เซนติเมตร โดยมีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 10 หลังคาเรือน
ทั้งนี้ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานรายงานว่าสัปดาห์นี้เป็นช่วงน้ำทะเลไม่หนุนสูง การเร่งระบายน้ำจึงเป็นผลดีอย่างยิ่ง ทำให้แม่น้ำและลำน้ำสาขามีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกเพิ่ม หากน้ำที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอัตราตั้งแต่ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะควบคุมการปิด – เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกอ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง