นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเหนือที่มีปริมาตรมากไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมาถึงพระนครศรีอยุธยามีระดับสูงขึ้น รวมทั้งอาจท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ก่อนที่จะปรับเพิ่มการระบายแต่ละครั้ง อีกทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ที่ระดับน้ำสูงขึ้น แล้วบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ ป้องกันพื้นที่เกษตรในคันกั้นน้ำไม่ให้เสียหายเพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นอกจากนี้ย้ำให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ขณะเกิดภัยและเร่งสำรวจความเสียหายทันทีที่น้ำลด แล้วรายงานเข้ามายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำเหนือปริมาตรสูงสุดจะมาถึงจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 7 กันยายน แล้วจึงไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งได้บริหารจัดการโดยแบ่งน้ำจากแม่น้ำน่านบางส่วนเข้าไปเก็บกักในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้ทดให้ระดับน้ำสูงขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในแม่น้ำและคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งตามศักยภาพที่จะรับได้เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรริมลำน้ำ จากนั้นจึงระบายออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยาโดยวันนี้ระบายในอัตรา 750 ลบ.ม./วินาที โดยยังไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายลุ่มเจ้าพระยาในคันกั้นน้ำ
ทั้งนี้สาเหตุที่เร่งระบายน้ำเนื่องจากเป็นช่วงน้ำทะเลไม่หนุน ทำให้ระบายออกอ่าวไทยได้เร็ว และการเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยานั้น กว่าที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะเปลี่ยนแปลงจะใช้เวลา 1-2 วันเพราะน้ำต้องใช้เวลาเดินทางจากจังหวัดชัยนาทมา ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกตกใจเนื่องจากน้ำไม่ได้เอ่อล้นตลิ่งอย่างรวดเร็วทันทีที่เพิ่มการระบายน้ำ
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำเหนือที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพิ่มขึ้นเนื่องจากน้ำเหนือจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมมีมาก โดยน้ำแม่น้ำน่านได้ใช้บึงบอระเพ็ดหน่วงน้ำ ส่วนน้ำในแม่น้ำยมใช้ทุ่งทะเลหลวงและบางระกำโมเดลแบ่งน้ำออกไปแล้วซึ่งช่วยลดปริมาตรน้ำได้ สำหรับลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาซึ่งปลูกข้าวได้จัดสรรน้ำให้ปลูกข้าวก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนี้ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว หากมีน้ำเหนือมาเพิ่มอีกระลอกสามารถผันน้ำเข้าไปเก็บกักได้ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งนั้นมีพื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่ต้องกังวลว่า จะเกิดอุทกภัยใหญ่และจะดูแลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด