ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกประกันสังคมประเมินลูกจ้างผู้ประกันตน ม.33 ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยช่วงโควิดไม่เกิน 4 ล้านคน ยืนยันมีเงินจ่ายทดแทนว่างงานเพียงพอ วอนนายจ้างเร่งแจ้งข้อมูลหยุดงาน เร่งเบิกจ่ายเงิน แจงยังไม่สรุปดึงเงินกองทุนอื่นมาใช้ได้หรือไม่

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า การจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันได้ทยอยโอนเงินเข้าบัญชีให้กับผู้ประกันตนกลุ่มแรกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ประมาณ 8,000 ราย

อีกทั้งในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะโอนเงินอีกประมาณ 10,000 ราย จากตัวเลขล่าสุดที่มีผู้ประกันตนยื่นความประสงค์ขอรับประโยชน์ทดแทนแล้วกว่า 1.2 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้ยังไม่ได้รับรองจากนายจ้างประมาณ 4 แสนราย ดังนั้นขอให้นายจ้างเร่งกรอกข้อมูลการหยุดงานของลูกจ้าง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ชดเชยให้เร็วที่สุด

S__18513989.jpg
  • นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมประเมินว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่า กรณีผู้มาใช้สิทธิขอรับเงินทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยสูงสุดจะไม่เกิน 3 ล้านคน และหนักหนาที่สุดจะไม่เกิน 4 ล้านคน จากผู้ประกันตน 11 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ เนื่องจากจ่ายเงินสมทบประกันสังคมยังไม่ครบ 6 เดือน

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าเงินกองทุนทดแทนกรณีว่างงานที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาทจะเพียงพอดูแลผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ

"ยืนยันว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะดูแลกลุ่มว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ กำลังพิจารณาการดึงเงินจากการลงทุนกลับมา หากจำเป็นที่จะต้องใช้ จะทำให้การบริหารเงินเพียงพอได้ใช้อย่างแน่นอน" นางพิศมัย

ส่วนจะใช้เงินจากกองทุนอื่นหรือไม่นั้น นางพิศมัย กล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในภาพรวมว่าจะสามารถใช้เงินจากกองทุนใดได้บ้าง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ เพียงแต่ต้องสอบถามในหลักการเบื้องต้นตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามรายงานผลสถานะกองทุนประกันสังคมที่มีล่าสุดเมื่อไตรมาส 3/2562 พบว่า มีเงินกองทุนประกันสังคมอยู่ทั้งสิ้น 2,177,473 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย) จำนวน 120,776 ล้านบาท 
  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 2 กรณี (สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) จำนวน 1,861,643 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเงินสำรองจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จำนวน 1,398,964 ล้านบาท) 
  • เงินกองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 181,641 ล้านบาท 
  • เงินกองทุนในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 (ภาคสมัครใจ) จำนวน 13,412 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :