นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยในรายการแถลงข่าวประจำวันที่ 4 พ.ค. 2563 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ว่า การดำเนินงานจ่ายเงินทดแทนกรณีลูกจ้างว่างงานจากเหตุสุดวิสัยตั้งแต่ 24 มี.ค. - 2 พ.ค. 2563 มีผู้ยื่นขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 1,177,841 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลซ้ำหรือไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 219,537 ราย ทำให้คงเหลือผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 958,304 ราย
โดยที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมเริ่มดำเนินการเยียวยาผู้ขอใช้สิทธิไปแล้วตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (17 เม.ย.2563) และวินิจฉัยสั่งจ่ายเงินทดแทนการว่างงานไปแล้วทั้งสิ้น 455,717 ราย หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 2,354 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกันตนที่เหลือแบ่งเป็นอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 207,895 ราย และอยู่ระหว่างรอนายจ้างเข้าไปรับรองสิทธิอีก 294,692 ราย ซึ่งในประเด็นหลังนี้ นายทศพล ย้ำว่า ขอวิงวอนให้นายจ้างรีบเข้าไปรับรอบสิทธิให้กับลูกจ้างให้รวดเร็วที่สุดหรือหากเป็นไปได้ขอให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้
ด้านนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มช่องทางให้นายจ้างสามารถเข้าไปรับรองสิทธิผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมได้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้างให้สามารถดำเนินการให้ง่ายยิ่งขึ้น
"ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาการยื่นรับรองของนายจ้างเข้าสู่ระบบ e-service บนหน้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะทำให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจนและสามารถนำมาประกอบการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น นายจ้างท่านใดยังไม่มี username และ password ให้สามารถยื่นขอในเว็บไซต์ได้เลย เราจะมีส่งให้ผ่านอีเมล์ภายในวันเดียวกัน" นางพิศมัย กล่าว
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำว่า ขอชี้แจงและยืนยันว่า เงินกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่สามารถนำไปลงทุนได้นั้น ณ ปัจจุบันมีจำนวน 2,032,841 ล้านบาท ยังคงมีอยู่ และสำนักงานฯ ได้นำไปแบ่งลงทุนด้วยความระมัดระวัง คือร้อยละ 82 นำไปลงในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ขณะที่อีกร้อยละ 12 นำไปลงทุนในหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ และหน่วยลงทุนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ เมื่อเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานฯ สามารถหาผลตอบแทนจากเม็ดเงินที่นำไปลงทุนนั้นได้เฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเงินกองทุนยังมีอยู่และมีการบริหารจัดการอย่างดี
"ขอให้ผู้ประกันตนทุกท่านมั่นใจได้ ในเรื่องความมั่นคงและเสถียรภาพของกองทุนฯ และขอยืนยันว่า เรามีความพร้อมมีความเพียงพอที่จะจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในทุกๆ กรณี อีกทั้งการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม มีคณะกรรมการประกันสังคมที่กำกับดูแลใกล้ชิด ซึ่งกรรมการมีทั้งตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร" นายนันทชัย กล่าว
สำหรับมาตรการคืนเงินสมทบที่ประกันสังคมจากมาตรการลดอัตราการเรียกเก็บเงินสมทบจากร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 1 และร้อยละ 4 สำหรับลูกจ้างและนายจ้างตามลำดับนั้น เป็นการใช้วงเงินทั้งสิ้นราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะกลับไปสู่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการส่งเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนทั้งสิ้น 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.2563) และทำให้มีเงินกลับไปใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานประกอบการใดได้ส่งเงินสมทบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างในเดือนมี.ค. และเดือนเม.ย. ไว้เกิน สามารถขอคืนส่วนเกินนี้ได้
"สำนักงานฯ ได้เตรียมการรับเงิน ในอัตราเงินสมทบที่ลดลงนี้มาตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. แต่อาจมีสถานประกอบการบางแห่งหักเงินสมทบประกันสังคมประจำเดือน มี.ค. และเม.ย. ไว้ในอัตราเดิม (ร้อยละ 5 ของเงินเดือน) ซึ่งกรณีสถานประกอบการหักไว้เกิน หากยังไม่ได้ส่งเงินมาที่สำนักงานฯ นายจ้างจะคืนลูกจ้างได้เลย แต่กรณีนำส่งสำนักงานฯ แล้ว ทางสำนักงานฯ จะคืนเงินส่วนนี้ให้กับนายจ้าง ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้จัดการโอนกลับเข้าบัญชีลูกจ้างผู้ประกันตนอีกครั้ง" นายนันทชัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;