วันที่ 20 พ.ย. 2565 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดเวทีเสวนา “Never Say Never: ถกปัญหา-หาทางออก 2 ปี การกลับมาของมาตรา 112” ตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้แสดงจุดยืนต่อการแก้ไข มาตรา 112 โดย รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นความรุนแรงที่ถูกผลิตซ้ำในนามของกฎหมาย ปัญหาของมาตรา 112 มีตั้งแต่การเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องได้ ยิ่งในปัจจุบันที่เราใช้โซเซียลมีเดียมันเกิดทำให้มีการฟ้องร้องในสถานีตำรวจพื้นที่ต่างๆ ทำให้หลายคนต้องไปพบกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ไกลๆ เพื่อสร้างภาระทางคดี สิ่งตามมาก็คือเจ้าหน้าตำรวจ อัยการ แม้กระทั่งศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ หลายครั้งพวกเขาก็ตัดโดยไม่กล้าใช้ดุลยพินิจที่มีความกล้าหาญ หลายครั้งก็เลยจบที่ไม่ได้ประกันตัวทำให้ต้องไปสู้กันในเรือนจำ หลายคนเลยต้องยอมรับสภาพ ด้วยเหตุผลคือเขาต้องการของไปใช้ชีวิตของนอก ไม่มีใครอยากติดคุก
พรรคก้าวไกลพยายามในการที่จะเสนอการแก้ไขมาตรา 112 เนื่องจากบางทีอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่เรา พอจะพูดคุยกันได้กับฝ่ายต่างๆ ดังนั้นถ้าเกิดสมมติว่าเราสามารถปักธงทางความคิด ชวนพรรคการเมืองต่างๆ ชวนฝ่ายต่างๆ ว่าถึงเวลาที่ต้องแก้แล้ว การใช้มาตรา 112 ในลักษณะแบบนี้มีแต่จะทำลายคุณค่าของประชาธิปไตย แล้วก็ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยซ้ำไป
ดังนั้นเราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการดึงฝ่ายต่างๆ ให้นำไปสู่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้ของสังคมไทย เพราะลำพังแค่พรรคก้าวไกล วันนี้เรามี ส.ส.กันอยู่ประมาณ 50 คน ยอมรับกันตรงๆ ว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ แล้วจะมีจุดไหนที่เป็นไปได้ในการที่จะดึงฝ่ายต่างๆ มาพูดคุย ยิ่งเราทำในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าข้อเสนอหลายอย่างถ้าเราจะใช้กระบวนการทางรัฐสภาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ แล้วจุดที่พรรคก้าวไกลคิดว่าพอจะเป็นไปได้ก็คือการแก้ไข ซึ่งอย่างน้อยก็นำไปสู่การพูดคุยกัน พรรคการเมืองไหนมีข้อเสนออะไรก็มาช่วยกันทำเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายของทุกคนได้จริงๆ
"พรรคก้าวไกลไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการที่ภาคประชาชนจะเสนอยกเลิก เราเชื่อว่าถ้าพี่น้องประชาชนมีเจตจำนงเข้าชื่อกันในการที่จะเสนอให้มีการยกเลิก เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันข้อเสนอของพี่น้องประชาชน" รังสิมันต์ กล่าว
ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจุดยืนของพรรคเพื่อไทย มาตรา 112 พูดง่ายๆ คือกฎหมายที่ต้องการไม่ให้มีใครมาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้แต่ตัวเราเองที่เป็นบุคคลธรรมเราก็ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นการที่จะมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในการตีความของคำว่าหมิ่นประมาทตรงนี้ที่เราต้องมาพูดคุยกัน รวมถึงอัตราโทษที่กำหนดขั้นต่ำไว้ 3-15 ปี ตรงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
เรื่องถัดมาคือ ขั้นตอนในการกล่าวโทษ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้นจึงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้อยู่ที่ไหนก็ได้ที่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พอให้ใครร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ สมมติถ้าเราไม่ชอบใครในโซเชียลมีเดีย แล้วคนนั้นชอบโพสต์ถากถางซึ่งมันอาจจะไม่ผิดมาตรา 112 สมมุติบ้านเราอยู่อำเภอสุไหงโก-ลก (จังหวัดนราธิวาส) เราก็อาจจะฟ้องมาตรา 112 กับตำรวจ
เมื่อมีการสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 คนที่ได้ประโยชน์หรือคนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่อัยการแต่คือสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องได้รับผลลัพธ์ในความรู้สึกที่ไม่ดีจากประชาชน ถ้าเกิดว่าเราใช้มาตรา 112 กับคนที่เห็นต่าง คนที่เสียหายก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรานี้มันไม่ใช่มาตราที่จะเอาไว้แสดงความจงรักภักดี โดยเฉพาะตั้งปี 2563 มีการใช้มาตรานี้มากขึ้น ซึ่งเป็นการจงรักภักดีผิดวิธี
ถ้าเกิดจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขมาตรา 112 สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือวิธีการบังคับใช้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แล้วถ้าการแก้ไขมาตรา 112 เข้าไปอยู่ในสภา พรรคเพื่อไทยมองว่า ต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหานี้มีความหลากหลายทางความคิด มีทั้งคนที่อยากให้ยกเลิก มีทั้งคนอยากให้แก้ไข มีทั้งคนไม่อยากให้แก้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำการบ้านกันอย่างหนักเราต้องเรียกทุกฝ่ายมาคุย เพื่อหาบทสรุปที่ถูกต้องที่สุด
พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญในการคุยกันแล้วก็หาจุดตรงกลาง สถานการณ์การเมืองนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกฎหมายบางฉบับทำให้เรามีประสบการณ์ว่าการที่เรานำเสนอไปโดยไม่ฟังเสียงคนข้างนอกเลยฟังเสียงคนในกลุ่มเดียว มันทำให้เราล้มเหลวมาแล้ว การที่กฎหมายบางฉบับผ่านสภาฯ แต่ว่าไม่ได้ผ่านสถานการณ์ข้างนอก มันทำให้นำไปสู่การรัฐประหารและความรุนแรง เช่น การนิรโทษกรรม
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เรื่องการใช้มาตรา 112 สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ต้องมีอัตราโทษ แต่ต้องดูว่ามีขนาดไหนถึงจะเหมาะสม สำหรับแนวคิดของพรรคเสรีรวมไทยคือให้ตัดอาฆาตมาดร้ายออกไป ให้มาตรา 112 เหลือแค่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท ส่วนอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี เดิมจาก 3-15 ปี ซึ่งอยู่ดุลยพินิจของผู้พิพากษาว่าจะ 10 วัน หรือจะ 1 ปี หรือ 2 ปี
ภาพ - Facebook : iLaw