ไม่พบผลการค้นหา
หลังผ่านพ้นยุค คสช. แม้ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะไม่ได้เป็นหัวหน้า คสช.แล้ว แต่ก็ขึ้นคุมกองทัพในเก้าอี้ รมว.กลาโหม โดยต่างทราบดีถึงเหตุผลที่ ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีปัญหาด้านสุขภาพ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงตกเป็นที่วิจารณ์ถึงการ ‘ควบรวมอำนาจ’ ในตำแหน่งเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจหรือการใช้อำนาจกองทัพมาหนุนอำนาจตัวเองเพื่ออยู่ได้ยาวขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบถึงเสียงวิจารณ์นี้ดี ตั้งแต่ก่อน โผ ครม.ประยุทธ์2/1 ออกอย่างเป็นทางการ

“ที่หลายคนพูดจาว่าการใช้อำนาจในการที่ นายกรัฐมนตรี มาเป็น รมว.กลาโหม จะทำให้มีการใช้อำนาจต่อไป มันไม่ใช่หรอกครับ มันมีกฎหมายของมันอยู่แล้ว อำนาจหน้าที่มีอยู่แล้ว มีขั้นตอนอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับทีมงานฝ่ายเสธนาธิการของพล.อ.ประยุทธ์ ได้มาประจำที่กระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ พล.อ.สุชาติ หนองบัว (ตท.15) อดีตเจ้ากรมกำลังพล ทบ. - ผู้ช่วยเสธ.ทบ. ฝ่ายกำลังพล ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. และอดีตสมาชิก สนช.มาเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม พร้อม พล.อ.ศักดา เนียมคำ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. และอดีต ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มาเป็น หัวหน้าสำนักงาน รมว.กลาโหม โดย พล.อ.ศักดา เติบโตมาจากเหล่าทหารม้า 

รวมทั้ง ‘เสธ.กวาง’พล.ท.หม่อมหลวง กุลชาต ดิศกุล ผู้ทรงคุณพิเศษ ทบ. และอดีตที่ปรึกษาสำนักโฆษกประจำสำนักนายกฯ และ พล.ท.ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม อดีตเจ้ากรมสารวัตรทหารบก มาเป็นทีมงานที่กระทรวงกลาโหมด้วย

ส่วน พล.ต.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ ยังคงทำงานเป็นทีมงานนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการกลั่นกรองเอกสารและประสานงานบุคคลต่างๆแทนนายกฯต่อไป โดย พล.ต.นิมิตต์ มีตำแหน่งในกองทัพอยู่ที่กระทรวงกลาโหม คือ นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม 

ซึ่ง พล.ต.นิมิตต์ เป็น ตท.รุ่น 30 จากนั้นไปจบ ร.ร.นายร้อยที่ Virginia Military Institute (VMI) สหรัฐฯ แต่ได้นับรุ่นเป็น จปร.41 เพราะเรียน จปร. 1 ปี และเติบโตในเหล่าปืนใหญ่ เป็นอดีต ผู้การ ป.1 รอ. ก่อนมาเป็นตำแหน่งฝ่ายเสธ.

ประยุทธ์ กระทรวงกลาโหม กองทัพ ทหาร -5880-4E1D-9FD5-E95A61D73CE7.jpeg

สำหรับตำแหน่งโฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ยังไม่รู้เลย” แต่ในเวลานี้ ‘เสธ.นิว’พ.อ.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม ก็ทำหน้าที่นี้ไปพลางๆก่อน 

ส่วน ‘เสธ.ต้อง’พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ที่มีตำแหน่งประจำในกระทรวงกลาโหม คือ ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาระบบราชการกลาโหมอยู่ระหว่างแสตนด์บายรอรับคำสั่ง

ทั้งนี้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความชัดเจนมากขึ้นจากการประชุมสภาที่ผ่านมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเป็น ปธ.คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วยตนเอง หลังเคยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร นั่ง ประธานก.ตร. มา 5 ปียุค คสช. 

ซึ่ง นายกฯ ให้เหตุผลของการมาคุมตำรวจเองครั้งนี้ โดยอ้างถึงสุขภาพของ พล.อ.ประวิตร เพื่อลดโหลดงานต่างๆ แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร จะมีความตั้งใจทำงานสูงก็ตาม ซึ่งภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30ก.ค. ก็มีการแบ่งกระทรวงให้ รองนายกฯ กำกับ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ได้ไป 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน รวมทั้งคุมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ , ศอ.บต. และ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ไปคุมกระทรวงพลังงานตามที่เคยมีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้

แต่ นายกฯ ยังคงให้ พล.อ.ประวิตร ดูแลเรื่องการแก้ปัญหานี้นอกระบบ

ประวิตร__40042554.jpgประวิตร-ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศชัดถึงการเป็นผู้คุมการจัดทำบัญชีโยกย้ายนานทหาร-ตร.เองด้วย โดยได้ให้นโยบายเบื้องต้นว่า ให้ ‘ผู้นำหน่วย’ ทำการเสนอชื่อขึ้นมาและรับผิดชอบ เพราะตนให้สิทธิ์กับผู้นำหน่วย ตนจะทำหน้าที่เพียงการตรวจทานดูความเหมาะสมและขีดความสามารถ ซึ่งแม่ทัพภาคต้องรับผิดชอบเพราะดูกองทัพ ผู้บัญชาการภาคก็ต้องรับผิดชอบในส่วนของตร. ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบมาให้ตนเท่านั้น 

จุดนี้เองสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ คุมงานความมั่นคงเองทั้งหมด ในยุคที่ไม่มีอำนาจ ‘หัวหน้า คสช.’ และมีเพียงอำนาจตามกฎหมายปกติ แต่มี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ช่วยงานต่างๆ แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องศึกษางานกิจการ ตร. มากพอสมควร และไม่ได้รู้จักนายตำรวจทั้งหมดเท่า พล.อ.ประวิตร ที่ดูแลงาน ตร. นานกว่า 5 ปี ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้เปิดเผยกับสื่อว่า ตนจะช่วยนายกฯดูตำรวจด้วย

หากดูภารกิจของ พล.อ.ประวิตร จะเห็นว่าลดภาระงานลงไปมาก จึงมีการมองว่าแม้ พล.อ.ประวิตร จะมีเวลาดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ก็มีเวลาไปดูพรรคพลังประชารัฐมากขึ้นเช่นกัน หลังได้สมัครสมาชิกพรรคไปตั้งแต่ก่อนไปเป็น ประธานปิดสัมมนาพรรค ที่ วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทำให้หลุดพ้นครหา ‘คนนอกครอบงำพรรค’ ท่ามกลางการจับตาว่า พล.อ.ประวิตร จะนั่งเป็น ประธานยุทธศาสตร์พรรค หรือ ประธานที่ปรึกษาพรรค ในการคุมพรรคอย่างเป็นทางการในอนาคต 

ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ เพราะเกรงในเรื่องข้อกฎหมายในอนาคต หากเกิดเรื่องขึ้นในพรรคจะกระเทือนมาถึงเก้าอี้ นายกฯ ได้ เช่นการตัดสิทธิทางการเมืองต่างๆ จึงยังใช้เวลานี้ชั่งน้ำหนักต่างๆอยู่ แม้เคยระบุว่าจะชี้แจงท่าทีหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาไปแล้ว

กองทัพ เหล่าทัพ ผู้นำ อภิรัชต์ plate.jpg

ในเวลานี้เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในระหว่างการจัดวางขุนพลในตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของตัวเองที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม พร้อมกับการจัดเตรียมแผนงานและนโยบายต่างๆ ประเดิมด้วยการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี2562 ถือเป็นโผทหารแรกต้อนรับรัฐบาลใหม่ในสถานการณ์ปกติ การจัดขุนพลกองทัพในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดหน้าคุมกลาโหมเอง จึงต้องติดตามว่าจะจัดขุนพลต่อแถวกันอย่างไรบ้าง 

โดยในปีนี้มีเพียง ‘บิ๊กต่าย’พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่เกษียณฯ โดยชื่อเต็งหนึ่ง ผบ.ทอ. คนต่อไปในเวลานี้คือ ‘บิ๊กนัต’ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์​​ เสนาธิการทหารอากาศเพื่อนร่วมรุ่น ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ซึ่งตามธรรมเนียม ทอ. มักให้ผู้ที่ผ่านงานเป็น เสธ.ทอ. ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป โดย พล.อ.อ.มานัตจบ ร.ร.นายเรืออากาศรุ่น 27 และ ร.ร.นายเรืออากาศเยอรมัน อดีตผู้ช่วยทูต ทอ.ไทย ประจำกรุงเบอร์ลิน อดีตเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ

ส่วน ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ จะเกษียณฯพร้อมกันปี 63 ยกเว้น พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณฯปี64 การจัดโผทหารครั้งนี้จะได้เห็นแล้วว่าแคนดิเดต ผบ.เหล่าทัพ คนต่อไปจะเป็นใครบ้าง และจะมาเป็น ‘กองหนุน’ ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป แม้ดุลอำนาจในกองทัพจะเปลี่ยนไปในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เพราะมีหลายการตัดสินใจที่เกินมือ พล.อ.ประยุทธ์ ไปแล้ว

ท่ามกลางอาถรรพ์การเมืองไทย ที่นายกฯคนไหนควบ รมว.กลาโหม มักจะจบไม่สวย ต้องจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะล้างอาถรรพ์นี้ได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog