อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ตั้ง ผบ.เหล่าทัพ และ ปลัดกระทรวงกลาโหม ชุดใหม่เป็น สมาชิก คสช. โดยตำแหน่ง
แต่ในส่วนของ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเป็น เลขาธิการ คสช. โดยตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่ต้องคุมกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คสช. (กกล.รส.) ที่มีอยู่ในทุกเหล่าทัพ ทั่วประเทศ มาในสถานการณ์ช่วงเลือกตั้งต้นปี 2562 ที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ได้ระบุว่า จะลดกำลังการใช้ กกล.รส. ในการทำหน้าที่ลง เพราะเกรงจะมีคำครหาเกิดขึ้นได้และโยงเข้าสู่เรื่องทางการเมือง
การขึ้นมาของ พล.อ.อภิรัชต์ เกิดขึ้นภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจุดยืน “ผมสนใจงานการเมือง” ส่งท้ายเดือน ก.ย. ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรค โดยเฉพาะ ‘เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์’ เริ่มขยับแถวกัน การชิงเก้าอี้ ‘ผู้นำพรรค’ ได้เริ่มขึ้นในแต่ละพรรคแล้ว
รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ ฐานที่มั่นของ คสช. ก็ขยับชัดเจน หลังพล.อ.ประยุทธ์ประกาศสนใจงานทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามที่คาดกันอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ประกาศตัวทั้งหมด หรือ ‘ทิ้งไพ่หมด’ แน่นอน
ไม่เช่นนั้น คนอื่นก็จะ ‘รู้ทัน’ และส่งผลต่อการอยู่ในอำนาจได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงพ่วงตำแหน่ง ‘หัวหน้า คสช.’ นั่นเอง ที่มี ม.44 ที่สามารถออกกฎหมายขึ้นมาได้ โดยเฉพาะกติกาที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองและการปลดล็อกพรรคที่จะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ .
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันแล้วว่า “ไม่ออก” จากตำแหน่ง หัวหน้าคสช. แม้จะถูกตั้งคำถามถึงความ ‘เหมาะสม’ และ ‘ความเป็นธรรม’ กับพรรคอื่นๆก็ตาม
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้น 5 เสือทบ. ผู้ช่วยผบ.ทบ. แม้จะโลว์โปร์ไฟล์ลงไปและไม่ค่อยปรากฏตัวให้เป็นข่าว แต่กลับมีข่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ อย่างต่อเนื่องในหลายๆด้าน ทั้งเสียงสนับสนุนและต่อต้านในการขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ทั้งจากใน-นอกรั้วทบ. และโดยเฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อแดง
เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ ถือว่าเป็น ‘แบล็กลิสต์’ ของคนเสื้อแดง ตั้งแต่สมัยสลายการชุมนุมช่วงปี 2552 ผ่านปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี สมัยเป็น ผู้การ ร.11 รอ. นั่นเอง ทำให้ถูกโยกไปประจำ ถูกโยกไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 เพชรบุรี ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
การกลับมาของ ‘บิ๊กแดง’ ในยุค คสช. ที่ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ต่อมาขยับเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็น แม่ทัพน้อยที่ 1 และสู่เส้นทางเหล็ก แม่ทัพภาคที่ 1 และเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ดังนั้นสายสัมพันธ์ระหว่าง คสช. กับ พล.อ.อภิรัชต์ มีความแนบแน่น ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘น้องรัก’ ต่างสายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ใช้บูรพาพยัคฆ์หรือทหารเสือฯ ด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายภารกิจต่างๆให้อยู่เสมอ
อีกทั้งเป็นที่ไว้วางใจ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ ขยับขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ก่อนรัฐประหาร 22พ.ค.2557 เพียง 1 เดือน ซึ่งเป็นหน่วยกำลังรบที่คุมพื้นที่กรุงเทพฯ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานบอร์ดกองสลากฯด้วย แน่นอนว่าการประสานงานระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ กับ คสช. ย่อมไร้รอยต่อ
แต่ด้วย พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. ที่มีตำแหน่งและสถานะสำคัญอยู่ด้วย การให้สัมภาษณ์หรือการชี้แจงเรื่องใดๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นจึงมีการแบ่งงานในการชี้แจงเรื่องในกองทัพและเรื่องทางการเมืองในฐานะที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น เลขาธิการคสช. อีกทั้งเป็น รอง ผอ.รมน. (กอ.รมน.) ด้วย
โดยจะให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผบ.ทบ. เพื่อนตท.20 และ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ เสธ.ทบ. รุ่นพี่ ตท.19 ทำหน้าที่ชี้แจงงานต่างๆ ซึ่ง พล.อ.ธีรวัฒน์ ต้องเป็น เลขาธิการ กอ.รมน. ตามตำแหน่งด้วย เพราะทั้งคู่ต่างเป็นนายทหารสายยุทธการมาด้วยกัน จึงเข้าใจและทราบแผนงานของทบ.ทั้งหมด และให้ทีมโฆษกทบ.-คสช. ชี้แจงเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง
อีกทั้งทำงานประสาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะ รมว.กลาโหม แม้จะต่างสายการเติบโตระหว่าง ‘บูรพาพยัคฆ์ – วงศ์เทวัญ’ แต่ก็มี พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ทำหน้าที่เชื่อมประสานงาน เพราะ พล.อ.ณัฐ เป็น เพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ และเป็นน้องรักของพล.อ.ประวิตรด้วย โดย พล.อ.ณัฐ เกษียณฯปี2564 หลัง พล.อ.อภิรัชต์ 1 ปี ที่เกษียณฯปี2563
หากย้อนอดีต สมัย ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รุ่นพี่ตท.10 เป็น ผบ.ทบ. ช่วงปี2552 ช่วงตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รับมือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ‘เสธ.แดง’พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล รุ่นพี่ตท.11 ได้กล่าวโจมตี พล.อ.อนุพงษ์ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ และเพื่อนตท.20 ตั้งโต๊ะแถลงข่าวปกป้องมาแล้ว
จึงสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ กับ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ แม้จะต่างสาย แต่ก็มุ่งสู่เส้นทางเดียวกัน ในการทำให้บ้านเมืองสงบและปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ
และต่างเป็น ‘แบล็กลิสต์’ ของกลุ่มคนเสื้อแดงและเครือข่ายต้านอำนาจ คสช. ด้วยทั้งหมด
ที่สำคัญนโยบายในยุค พล.อ.เฉลิมชัย ก็ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้น จากนโยบาย ‘Smart Man Smart Army’ สู่ ‘Smart Soldier Strong Army’ ของ พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งยังคงคำว่า ‘สมาร์ท’ ไว้อยู่ เพื่อให้มีความ ‘สตรอง’ นั่นเอง
โดย พล.อ.อภิรัชต์ เองก็เป็นต้นแบบของความ ‘สมาร์ท’ ให้กำลังพลได้เห็นอยู่แล้ว หลังผ่านการฝึกหลักสูตรสำคัญมา และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ‘นายทหารพิเศษ’ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้น
แน่นอนว่ายังคงคอนเซ็ปต์ของ พล.อ.เฉลิมชัย อยู่บ้าง โดยเฉพาะโครงการทดสอบสมรรถนะร่างกายและภาษาอังกฤษของผู้บังคับกองพันและผู้การกรมฯ โดยมีรายงานว่าทั้งคู่ต่างพูดเรื่องงานกันอยู่เสมอ
“ดำเนินการในลักษณะนี้ 4 ครั้ง ก็ถึงจุดอิ่มตัว ในปีหน้าที่เปลี่ยน ผบ.ทบ. อาจจะมีแนวทางที่แตกต่างไป อาจมีการส่งชุดไปทดสอบในพื้นที่ เพื่อให้ผู้บังคับกองพันได้ทดสอบร่วมกันหรือรวมกันในระดับกองทัพก็ได้ทั้งหมด แล้วแต่แนวทางของ ผบ.ทบ.ท่านใหม่ แต่เป้าหมายเพื่อให้กำลังพลของกองทัพมีความแข็งแรง กองทัพบกจะมีความมั่นใจในการใช้กำลัง" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2561
“ผมขอให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความรับผิดชอบสูงสุดที่มีต่อชาติราชบัลลังก์และประชาชน พร้อมที่จะสานต่อนโยบายของท่านผู้บัญชาการทหารบกให้มีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งจะปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยความเป็นธรรม และนำพากองทัพ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเอกภาพ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีความสง่างาม ให้เป็นกองทัพของชาติและประชาชนที่พร้อมพิทักษ์รักษาสถาบันหลักของชาติให้มีความมั่นคง และสร้างความสงบสุข ให้กับสังคมส่วนรวม“ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวรับตำแหน่ง
หากในอนาคต ‘เพื่อไทย’ หรือ ‘อนาคตใหม่’ จับมือแล้วกลับมาชนะเลือกตั้ง แน่นอนว่า พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็นเป้าทางการเมืองที่สำคัญแน่นอน
เพราะมีบทเรียนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ในวันนี้สถานการณ์และภาพรวมทางอำนาจเปลี่ยนไป อาจไม่ซ้ำรอยเช่นเดิมก็เป็นได้ แต่หาก ‘เครือข่าย’ ของกลุ่มพรรคเพื่อไทย กลับมามีอำนาจ ก็จะทำให้มี ‘อำนาจต่อรอง’ ได้มากขึ้นด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ‘สัญญาณสำคัญ’ อยู่ต่อเนื่องว่ายุคนี้บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ล่าสุดเห็นได้จากที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตนายทหารรุ่น จปร.7 และเคยเป็นอดีตแกนนำของกลุ่ม นปช. แม้จะมีแนวทางเดินที่ต่างกันกับ นปช. ในช่วงหลัง ที่นำโดย ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ในเรื่องการตั้งกองทัพประชาชน ช่วงปี2553 และมีแนวทางการต่อสู้ทางยุทธวิธีที่ต่างกัน จึงทำให้เสียงในกลุ่ม นปช. ในช่วงนั้นแยกเป็น 2-3 สาย แต่ก็ต่างมีปลายทางเดียวกัน
โดย พล.อ.พัลลภ กล่าวถึงกรณีมีบางฝ่ายกังวลต่อการทำหน้าที่ของ พล.อ.อภิรัชต์ อาจส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย ว่า พล.อ.อภิรัชต์ เป็นทหารมืออาชีพ มีระเบียบวินัย เหมือน ‘บิ๊กจ๊อด’พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา พล.อ.อภิรัชต์ ที่ถือเป็นเจ้านายเก่าของตน มีความคุ้นเคยกันดี ตนเคยเป็นลูกน้องช่วยงานท่าน ในวันที่ พล.อ.อภิรัชต์ เกิด ตนยังได้ไปร่วมแสดงความยินดีและเคยไปอุ้มกับมือมาแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ‘บ้านคงสมพงษ์’ มี 2 ผบ.เหล่าทัพ คือ ผบ.สูงสุด และ ผบ.ทบ. ส่วนเส้นทางการเดินในตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ จะเหมือนกันหรือไม่นั้น เพราะสถานการณ์นับจากนี้ ‘ไม่ง่ายและไม่ยาก’ เกินมือ ‘บิ๊กแดง’ แน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง