ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้านเดือด ยกโขยงนับร้อย บุก ‘คมนาคม’ พ่วงศาลากลางจังหวัดสงขลา-ขอนแก่น-นครศรีธรรมราช หลังผู้ว่ารฟท.ดองเรื่อง เมินชงแผนเข้าบอร์ดอนุมัติเช่าที่ดินรถไฟช่วยคนชุมชน ทั้งที่ครม.มีมติเห็นชอบคลอดแผนแก้ปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ 300 ชุมชน 35 จังหวัด 20,084 ครัวเรือน งบประมาณกว่า 7,700 ล้านบาทไปแล้วตั้งแต่ 14 มี.ค.

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ที่กระทรวงคมนาคม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) นำโดยผู้แทนชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศเป็นสมาชิกกลุ่มขปส. ประมาณ 300 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ขปส.ชาวชุมชนริมทางรถไฟทั่วภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี ศรีสะเกษ ราชบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ตรัง และสงขลา รวม 11 จังหวัด ได้เดินทางมายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อส่งต่อไปยังผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เร่งรัดดำเนินการตามมติ ครม.โดยขอให้นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการการรถไฟฯ ภายในเดือน พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 10 เม.ย. ที่ขปส.ได้ทำหนังสือถึงรักษาการ รมว.คมนาคม เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมติการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม โดยหนังสือฉบับดังกล่าวได้อ้างถึงมติการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุม มีมติสำคัญที่ยังรอดำเนินการดังนี้

1.การนำรายชื่อ และจำนวนของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าสู่ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.)พิจารณาหลักเกณฑ์ตามแนวทางการแก้ปัญหามติบอร์ด รฟท. เมื่อ 13 ก.ย. 2543 ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยในที่ประชุมอนุกรรมการฯ รฟท.แจ้งจะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด

2. การทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจำนวน 2 แปลง ในจังหวัดขอนแก่น ในที่ประชุมอนุกรรมการฯ  มีมติรับทราบว่า รฟท.จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2566 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการลงนามเพื่อนัดหมายทำสัญญาเช่าแต่อย่างใด

3. การทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยจำนวน 3 แปลง ในจังหวัดตรัง ในที่ประชุมอนุกรรมการฯมีมติรับทราบว่า รฟท.จะดำเนินการลงพื้นที่เพื่อดำเนินการจัดเช่าที่ดินให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2566 และในการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ ทาง รฟท. ได้แจ้งว่าจะมีการลงนามสัญญาเช่าภายในเดือนม มี.ค. 2566 นี้

4.การดำเนินการทำสัญญาเช่าที่ดินย่านริมบึงมักกะสัน เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ที่ผู้ว่ารถไฟฯ จะดำเนินการพิจารณารูปแบบการเช่า และสร้างที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กระทั่งวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด

“เนื่องจากมีกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติ แต่ไม่มีการดำเนินการจากหน่วยงาน รฟท. ในวันที่ 19 เม.ย. นี้ ทางผู้แทนชุมชน และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 300 คน จึงขอมาติดตามความคืบหน้าดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคม โดยขอให้ท่านได้ประสานผู้ว่าการรถไฟฯ และฝ่ายต่างๆ ใน รฟท. ที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาข้างต้นมาชี้แจง และกำหนดกรอบเวลาที่จะดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามมติในที่ประชุม” หนังสือของ ขปส.ถึงรักษาการ รมว.คมนาคมระบุถึงเหตุผลที่จะเดินทางมาที่กระทรวงคมนาคมในวันที่ 19 เม.ย. นี้

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือฯตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ โดยในปี 2566 พอช. มี 6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ เช่น ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน เขตราชเทวี จำนวน 306 ครอบครัว โดย พอช. อยู่ระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย